DoiSter.....ชีวิตเทียมเมฆ
เรื่องและภาพ : นิพนธ์ เรียบเรียง
แม่ฮ่องสอนกับผมนั้นพบปะกันมาหลายครั้งนับ ตั้งแต่เปิดเส้นทางการบินของบางกอกแอร์เวย์ แต่ประสบการณ์พิชิตทางโค้งนับพันจากเชียงใหม่ถึงแม่ฮ่องสอนนั้นนับว่าเป็นครั้งแรก (และยากจะลืมเลือน) “ความงามมักซ่อนตัวอยู่ในความยากลำบาก” ไม่รู้ใครพูดไว้รู้เพียงแต่ว่าหากผมถอดใจไม่ขึ้นรถกระบะต่อขึ้นไปยังบ้านห้วยตองก๊ออันเป็นปลายทางในครั้งนี้แล้ว ก็คงไม่กล้าบอกใครต่อใครว่าตนเองเป็นช่างภาพอีกแน่นอน....
จากเชียงใหม่ถึงแม่ฮ่องสอนบนถนนสายลำไส้
ทริปนี้มีเพื่อนร่วมทางเป็นสื่อมวลชนจากหลายแห่ง โดยมีเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้นำทีม เสียงพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเดินทางทำงานมีให้ฟังตลอดจนกระทั่งเข้าเขต อ.ปางมะผ้า เสียงพูดคุยเริ่มเงียบ (อาจเพราะแรงเหวี่ยงหลายต่อหลายโค้ง)
แต่อย่างไรเราก็ต้องไปให้ทันเวลานัดหมายกับรถกระบะแบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่จะนำพาขึ้นยอดดอยอีกทอดนึง เพราะยิ่งมืดค่ำจะลำบากในการไต่เขาชันขึ้นไปนั่นเอง
ผมเองนั้นอ่อนเพลียจากอาการเมารถจนคิดท้อใจ อยากขอเข้าที่พักด้านล่าง แต่น้องๆ ที่ร่วมทางก็ให้กำลังใจต่อว่า ผ่านมาพันกว่าโค้งแล้ว เหลืออีกนิดเดียวเองพี่
เอ้า ลุยต่อ หลายคนอมยิ้มกับฉายาที่ผมตั้งให้ถนนเส้นนี้ว่า “ถนนสายลำไส้” ก็มันคดโค้งจนแทบไม่มีทางตรงเลยนี่นา
ยิ่งสูงยิ่งสวย...
เราเปลี่ยนรถกันที่บริเวณสถาบันราชภัฎแม่ฮ่องสอน โดยมี อ.เกษม กุณาศรี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการ การศึกษาศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกว. รอรับพวกเราอยู่
ห้าสิบกิโลเมตรต่อจากนี้ต้องใช้เวลาถึงสองชั่วโมงครึ่งในการไต่ความสูงชันขึ้นไปเรื่อยๆ โชคดีที่เป็นช่วงหน้าร้อน จึงยังมีเวลาพอเก็บภาพทิวทิศน์ยามเย็นก่อนอาทิตย์ลับฟ้าที่จุดชมวิว และมนต์เสน่ห์ของยอดดอยก็น่าจะเริ่มจากจุดนี้นี่เอง
ราวสักสองทุ่มเราก็ถึงปลายทาง แต่ผมนั้นหมดสภาพเกินกว่าจะอยู่ร่วมวงอาหารเย็น จึงขอไปนอนพักก่อนเป็นคนแรก
โฮมเสตย์ปกาเกอะญอบ้านห้วยตองก๊อ....
ฟูกนอนถูกปูเตรียมไว้พร้อมเครื่องนอนหอมกลิ่นแดดอากาศเย็นสดชื่น จนถึงขั้นหนาวในยามดึกจนต้องห่มผ้าสองชั้น ทั้งที่เป็นช่วงเดือนมีนาคม......
เช้าตรู่กับการถูกปลุกด้วยเสียงไก่ขัน นับเป็นความคลาสสิกและรู้สึกถึงการมีชีวิตใหม่จริงๆ ในครัวแม่บ้านกำลังต้มน้ำเตรียมอาหาร ควันไฟลอยขึ้นไปยังด้านบนหลังคาที่สานและมุงด้วยใบไม้ตระกูลปาล์ม พวกเขาเรียกชื่อมันว่า “ใบตองก๊อ” อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน
ผมเพลินกับวิวทุ่งนาขั้นบันไดด้านหลังบ้าน จนเพื่อนเรียกให้ร่วมวงข้าวเช้าที่จัดใส่โตกกลมแบบทางเหนือ ท่ามกลางอุณหภูมิสักสิบกว่าองศาน่าจะได้ “หนาวจริงต้องมกรา-ธันวา” ชาวบ้านคนนึงพูดขึ้นเมื่อเห็นเราบ่นว่าหนาว ในขณะที่เขาสวมเพียงเสื้อแขนสั้น
วิถีชีวิตยามเช้าของบ้านห้วยตองก๊อดำเนินไปอย่างไม่เร่งร้อน ชายหนุ่มบางคนถือแก้วทำจากไม้ไผ่บรรจุชาร้อนควันฉุย ออกมานั่งบนกองฟืนหน้าบ้าน มีแมวตัวเก่งวิ่งตามมาชวนเล่น หากจะต่างไปบ้างก็ตรงที่ วันนี้มีการสาธิตการย้อมผ้า ตีมีดและอื่นๆให้พวกเราได้ชมกันนั่นเอง
สถาปนิกหนุ่มกับการพัฒนาชุมชน
คุณสมภพ ยี่จอหอ ในชุดผ้าทอสีสวยย้อมจากผลของต้นตองก๊อ คือเจ้าของไอเดีย DoiSter อันเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่นี่ ให้เป็นที่รู้จักและสนใจในเรื่องราวความเป็นมา
หลายปีที่ผ่านมาเขานำพาปกาเกอะญอไปงานแฟร์ต่างๆ พร้อมมีการสาธิตในแบบเวิร์ค ช้อป รวมทั้งช่วยดูแลในเรื่องดีไซน์ โดยให้อยู่ในแนวคิดหลัก เช่นลายใบตองก๊อหรือวัตถุดิบธรรมชาติ ที่นำมาใช้ในการดำรงชีพของชาวบ้าน
ผมดูแล้วก็นึกถึงงานของพวกอะบอริจิน หรือกระทั่งอินเดียนแดง ที่ลึกล้ำในความเข้าใจธรรมชาติเป็นอย่างมาก
การเข้ามาท่องเที่ยวในบ้านห้วยตองก๊อนั้น ถือเป็นการนำเอาวิถีชีวิตโดยเฉพาะด้านหัตถกรรมเป็นตัวหลัก ส่วนที่พักนั้นเป็นรอง เพราะนักท่องเที่ยวส่วนมากจะชื่นชอบการเรียนรู้ต่างๆ เช่นย้อมผ้าหรือแม้กระทั่งการตีมีด
อยากลิ้มลองต้องมาเอง....
เรื่องราวลวดลายการทอผ้า ที่สามารถบอกเล่าความเป็นมาช่วยสร้างมูลค่าได้มาก แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนวิถีหลักของพวกเขา
ใครสนใจอยากหาประสบการณ์ท่ามกลางขุนเขาสายหมอก ก็ลองเข้าไปดูที่เพจ การท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านห้วยตองก๊อ หรือโทรติดต่อโดยตรงที่ 08-8291-2419 คุณทินกร
และยิ่งถ้าคุณเป็นคนรักการถ่ายภาพ ผมอยากบอกว่าขอให้เตรียมไปให้เต็มที่ เพราะเรื่องราวความสวยงามนั้นมากมายเกินจะบรรยายจริงๆ ครับ
ขอขอบคุณ ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)