“พังงาในวันฟ้าฉ่ำฝน” (ตอนที่ 1)
เรื่อง/ภาพ โดยนิพนธ์ เรียบเรียง
กลุ่มไอหมอกขาวที่ลอยเอื่อยเรี่ยกับภูเขาหินกลางทะเลบริเวณรอยต่อของสองจังหวัดทางภาคใต้ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความงดงามทางธรรมชาติจนเป็นที่มาของคำเรียกที่ติดปากชาวบ้านแถบนั้นว่า “พังงาพี่กระบี่น้อง" ช่วยให้ช่างภาพหลายคนที่ร่วมเดินทางเริ่มมีรอยยิ้มขึ้นมาบ้างหลังจากเจอสายฝนต้อนรับตั้งแต่วันแรกที่มาถึงพังงา
พวกเรามีปลายทางอยู่ที่หมู่บ้านโคกไคร ชุมชนมุสลิมเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณรั้วบ้านของสองจังหวัดที่กล่าวถึง อาชีพการประมงตั้งแต่การเลี้ยงหอยนางรม ด้วยการนำยางรถมอเตอร์ไซค์มาผ่าออกเป็นสองเส้นและมัดติดกับหลักไม้ไผ่ เพื่อรอให้ลูกหอยมาเกาะ หรือการรุนกุ้งเคยเพื่อนำมาทำกะปิ และการวางลอบไซปลาเก๋าคืองานหลักของชาวบ้านแถบนี้ โดยมีอาหารขึ้นชื่ออย่างน้ำพริกกุ้งเสียบเป็นพยานในด้านความอุดมสมบูรณ์ ภาพวิถีชีวิตท่ามกลางสายฝนของผู้คนที่นี่จึงดำเนินไปอย่างเรียบง่ายทว่างดงามยิ่งในสายตาของผู้มาเยือน
กิจกรรมที่น่าสนใจและเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มายังหมู่บ้านแห่งนี้ คือการนั่งเรือออกไปยังหาดตั้งเลนเพื่อชมกองทัพปูมดแดงจำนวนมาก ที่จะพากันออกมารับแสงแดดในช่วงที่น้ำลง นอกจากบรรดาปูมดแดงแล้วบนชายหาดความยาวหลายกิโลเมตรแห่งนี้ยังเปรียบเสมือนห้องเรียนทางธรรมชาติสัตว์ทะเลต่างๆ ทั้งดาวทะเลหรือที่เรียกกันว่าปลาดาว หมึกยักษ์ที่ชาวบ้านเรียกเรียกขานว่า “หมึกวาย" ก็มีให้พบเห็น เราแวะหลบฝนที่เพิงพักบนเกาะเล็กๆ ที่ชาวเรือช่วยกันปลูกสร้างไว้หลบลมพายุระหว่างออกทะเล
การจิบกาแฟแกล้มโรตีน้ำแกงซึ่งเป็นอาหารเช้าในแบบมุสลิม ยิ่งช่วยเพิ่มรสชาติของชีวิต เมื่อเราอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่รายรอบไปด้วยผืนน้ำและทิวเขา แถมด้วยเรื่องเล่าตำนานท้องถิ่นกล่าวถึงความเป็นมาของเกาะสองพี่น้องเกาะเล็กๆ สองเกาะ ที่เป็นพื้นที่แบ่งเขตของพังงาและกระบี่
หมู่บ้านโคกไครอยู่ห่างจากเขาหลักราวแปดสิบกิโลเมตร ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยมีกิจกรรมการพายเรือคายัคข้ามจังหวัดเข้าไปยังกระบี่ เพื่อเที่ยวชมธรรมชาติตามถ้ำและเกาะแก่งต่างๆ หรือนั่งเรือชมทัศนียภาพที่สวยงาม
ภายในหมู่บ้านแห่งนี้ยังมีการจัดที่พักแบบโฮมสเตย์และกิจกรรมการเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน เช่น การสาธิตการทำโรตีที่เรากล้ายืนยันว่าอร่อยมาก (โปรดติดตามตอนต่อไป)