ชีวิตริมน้ำกับรสแท้ของธรรมชาติ...ที่สกลนคร
โดย นิพนธ์ เรียบเรียง
ผมเดินทางออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดแม้เที่ยวบินที่จองไว้จะเป็นเวลาแปดโมงเช้าก็ตาม แน่นอนว่าการจราจรในเมืองกรุงช่วงชั่วโมงเร่งด่วนในธรรมดาคือตัวกำหนดให้ผมต้องทำเช่นนี้ (มิฉะนั้นอาจตกเครื่อง) ปลายทางในครั้งนี้คือเมืองสกลนคร ที่ล่าสุดสักสามปีเห็นจะได้ผมได้ไปร่วมขบวนแห่ดาวคริสต์มาสที่ชุมชนบ้านท่าแร่และได้ภาพสวยงามมามากพอสมควร
ครั้งนี้ผมไปด้วยคำชักชวนของ ดร.ปรัชญากรณ์ ผู้ที่ทำงานวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนและเจ้าของเวบไซท์ www.plearntrip.com เครื่องบินมีความคลาดเคลื่อนไปราวครึ่งชั่วโมง ผมจึงกลายเป็นวีไอพีเพียงผู้เดียวบนรถตู้ของทางฝ่ายจัดงาน Press tour ชุมชนรอบหนองหารของหน่วยงานอย่างสำนักงานพัฒนาชุมชน อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร และมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร
ล่องเรือในหนองหาร
จากสนามบินใช้เวลาสักยี่สิบนาทีก็มาถึงท่าเรือสระพังทองกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งคณะนักวิชาการและตัวแทนบ.ท่องเที่ยวก็มารวมตัวรอคอย(ผม)เพื่อจะล่องเรือเที่ยวชมบรรยากาศของผืนน้ำขนาดเจ็ดหมื่นกว่าไร่ที่มีนามว่า “หนองหาร”
แนะนำตัวพร้อมทั้งขอโทษขอโพยหมู่คณะเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาลงเรือหางยาวโดยมีไกด์ท้องถิ่นนั่งบรรยายอยู่หัวเรือเขาบอกว่าในหนองหารนี้มีเกาะแก่งหรือที่เรียกกันว่า “ดอน” ใหญ่น้อยอยู่ถึงสามร้อยกว่าดอน แต่ที่ใหญ่ที่สุดที่พวกเรากำลังเดินทางไปนี้ชื่อ "ดอนสวรรค์" มีพื้นที่ถึงร้อยไร่
สายลมเย็นโชยมาไม่ขาดทั้งที่อยู่ในช่วงเดือนเมษายนก็ถือว่าไม่ทรมานกับความร้อนจนเกินไปนัก รวมทั้งต้นไม้ขนาดใหญ่บนดอนสวรรค์ก็ช่วยเพิ่มความร่มรื่นให้ด้วย รอบเกาะหรือดอนแห่งนี้มีการจัดสร้างทางเดินชมธรรมชาติมีต้นตะแบกขึ้นเรียงรายตลอด
ผมนั้นเห็นตรงกันกับดร.ปรัชญากรณ์ ว่าที่นี่เหมาะจะเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้เด็กๆ ศึกษาเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งฝึกทำงานศิลปะ เนื่องจากความเงียบสงบช่วยให้มีสมาธิ “ลองคิดดูว่ามาเรียนเป่าแคนกันที่นี่น่าจะเข้าท่า” ผมเสริมเรื่องดนตรีตามที่ตัวเองชื่นชอบ
ศาลาอาคารริมน้ำกระทั่งห้องน้ำก็มีพร้อมไม่ต้องก่อสร้างอะไรเพิ่มเติม เพียงแค่ปรับปรุงทำความสะอาดให้ดีก็ใช้ได้แล้วข้อสำคัญต้องระวังและจัดการเรื่องขยะให้ดีเก็บกลับไปบนฝั่งให้หมดด้วย
วัดพุทธและโบสถ์คริสต์
สกลนครถือได้ว่าเป็นพื้นที่ๆ มีชุมชนชาวคริสต์อาศัยอยู่มาก เช่นที่ท่าแร่กับงานแห่ดาวคริสต์มาสอันโด่งดังนั่นเอง เรือนำพาพวกเราต่อมายังวัดเก่าแก่อีกแห่งริมหนองหาร ไกด์ชี้ให้เห็นโบสถ์แม่พระราชินีสายประคำศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามห่างกับวัดราวสามกิโลเมตร อันเป็นจุดพักกินมื้อเที่ยงของเรานั่นเอง
ที่วัดเก่าแก่ของชุมชนจอมแจ้งแห่งนี้ มีการขุดพบเครื่องมือใช้สอยในยุคทวารวดี และจัดเก็บเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวได้ชม เดินดูจนท้องหิวกันถ้วนหน้าก็ลงเรือข้ามมาฝั่งโบสถ์คริสต์ ข้าวเหนียวกระติ๊บใหญ่ตั้งคอยท่าอยู่แล้ว อาหารรสมือแม่บ้านจอมแจ้งเด็ดขาดนัก ทั้งเมนูลาบ น้ำพริกผักนึ่ง (มีดอกกระเจียวนึ่งมาด้วย) รวมทั้งต้มปลาที่ได้มาจากหนองหารนั่นเอง
อิ่มท้องดีก็เดินย่อยและขึ้นไปชมภายในโบสถ์ ก่อนลงมาเลือกซื้อสินค้าท้องถิ่นพวกปลาแห้ง ปลาส้ม แหนมปลาเป็นเสบียงชั้นดีกลับบ้านเมืองกรุง
ชุมชนจอมแจ้งตั้งใจจะจัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ โดยนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นหลัก เราได้เห็นการทอเสื่อจาก” ผือ” (พืชน้ำในตระกูลเดียวกับกกแต่มีลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยม) สีสันของผืนเสื่อที่ทอสดใสสวยงามไม่ธรรมดาจนช่างภาพใหญ่น้อย ต้องมาขอรุมถ่ายภาพขั้นตอนการทอเก็บไว้ซะหน่อย
ชีวิตเรียบง่ายที่จอมแจ้ง
เราพบกับผู้ใหญ่บ้านของชุมชนนี้ ในบ้านแบบชนบทมีแปลงผักสวนครัว กรงเลี้ยงไก่ และเครื่องมือทางการเกษตร ทุกอย่างล้วนถูกจัดเก็บเป็นระเบียบสะอาดตา แถมด้านหลังบ้านยังเป็นศาลาร่มรื่นย์ใต้ต้นไม้ใหญ่ มีฉากหลังเป็นหนองหาร
เราอิจฉาชายคนที่ผูกเปลนอนคนนั้นเหลือเกิน เขาพักผ่อนหลังกลับจากการตกปลา ครับวันนี้เขายังไม่ต้อใช้เงินสักบาทเดียว...
ที่จอมแจ้งมีทั้งการเกษตรลอยน้ำที่เกิดจากการนำเอาดินและสาหร่าย ที่ทับถมกันมากมายในหนองหารจนเกิดการจับตัวแน่นด้วยรากของหญ้าคาที่ขึ้นบนนั้น ชาวบ้านได้ความคิดนำมาทำเป็นแปลงพืชผัก จนมีการเดินทางมาดูงานของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ในวันที่เราไปถึงมีคณะนักศึกษาฝรั่งมาเยี่ยมชม นั่นย่อมยืนยันถึงความไม่ธรรมดาของชุมชนจอมแจ้งได้พอสมควรทีเดียว
เข้าพักโฮมสเตย์ที่ชุมชนบ้านแป้น
เสียงตีกลองเส็งดังสนั่นด้วยการสาธิตของผู้เฒ่าที่รู้จักคุ้นเคยกับภูมิปัญญาโบราณของการทำกลอง (เส็ง หมายถึง การแข่ง หากเป็นทางพัทลุงน่าจะเปรียบได้กับโพนนั่นเอง)
เรามารวมตัวกันที่รร.บ้านแป้น เพื่อร่วมพิธีต้อนรับของชุมชน บอกตามตรงว่าสำหรับผมนั้น ขอเพียงรอยยิ้มและน้ำสักแก้วก็ชื่นใจในไมตรีแล้ว การแต่งตัวเต็มยศในช่วงกลางวันที่มีแสงแดดร้อนนั้น มันทรมานใจคนดู เพราะอดไม่ได้ที่จะโทษตนเอง ที่เป็นสาเหตุให้ต้องมาลำบากกัน (แต่อย่างว่าครับ น้ำเอยน้ำใจใครจะกล้าปฎิเสธ)
ที่นี่หลังฟังบรรยายสรุปจากผู้นำชุมชนแล้ว เราก็นั่งรถอีแต็กหรือรถไถนาที่พ่วงด้านหลังเป็นสองแถวตระเวนชมหมู่บ้านกัน เพื่อนบางคนที่เห็นภาพในเฟสบุ๊คแซวว่า ผมนั่งรถเฟอราลากคู่แข่งเฟอรารี่ ฮ่าๆๆ ปุเลงกันไปตามวัดวาอาราม ได้เห็นภาพวาดเรื่องราวพุทธชาดกฝีมือช่างพื้นบ้านที่สวยแบบซื่อๆ และงดงามเรียบง่ายเหลือเกิน
แวะนั่งชมการทำน้ำปลาร้าวิสาหกิจชุมชนที่บ้านสวนสุขใจของคุณสะคราญนิตย์ นามละคร หรือคุณเอี้ยง ผู้เป็นแม่ครัวมือเอกของชุมชนคนนึง ผมและดร.กรณ์ตกลงใจขอเข้าพักค้างคืนที่บ้านนี้หลัง เห็นระเบียงไม้ยกพื้นโล่งสบายแถมเจ้าบ้านยืนยันว่าไร้ยุงรบกวนอีกต่างหาก
ในชุมชนบ้านแป้นนี้การเกษตรผสมผสานได้รับความนิยมมาก เราแวะดูบ้านที่ปลูกทั้งหม่อน ลิ้นจี่ และอื่นๆ สารพัด โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง น้ำหม่อนหรือมัลเบอรรี่ปั่นกับน้ำแข็งเกร็ดนั้นชื่นใจ ให้เรี่ยวแรงไปลุยต่อที่จุดชมตะวันรอนริมหนองหารกันเป็นจุดสุดท้าย ก่อนเข้าที่พักแบบโฮมสเตย์ที่มีจัดขึ้นประมาณยี่สิบหลังคาเรือนในชุมชนแห่งนี้
ช่วงค่ำๆมีงานเลี้ยงต้อนรับกันที่ลานหน้าโรงเรียน พิธีบายศรีสู่ขวัญแบบอีสานดำเนินไปพร้อมรอยยิ้มและมิตรไมตรีที่มีต่อกัน ผมกลับมาที่บ้านสวนสุขใจก่อนงานเลี้ยงเลิกเพราะติดใจบรรยากาศเงียบสงบของที่นี่ แถมเจ้าบ้านจัดเตรียมหมูทอดหมักข้าวเหนียวที่ไม่เคยชิมที่ไหนมาก่อน และทุกคนลงมติว่าเป็นสุดยอดของชุมชนจริงๆ
ไม่นานนักหลังจบงานเลี้ยง หลายคนที่ร่วมทางก็ตามมาสมทบที่บ้านสวนสุขใจ ผมทำหน้าที่นักดนตรีจำเป็นกับการเกากีต้าร์ ในบรรยากาศแบบกันเองและอบอุ่นในมิตรภาพ...
“ชุมชนนี้คือน้ำซุปชั้นดี ที่เคี่ยวน้ำต้มกระดูกจนได้ที่ มีความงดงามในตัวเอง และหากพวกคุณอยากจะปรุงรสใดก็ตามลงไปในซุปถ้วยนี้ ผมขอให้พิจารณาให้ดีด้วยครับ"
นั่นคือข้อสรุปสั้นๆของผมในวันรุ่งขึ้นก่อนลาจากชุมชน
'
ขอขอบคุณ สำนักงานพัฒนาชุมชนอ.โพนนาแก้ว จ.สกลนครและมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร
ดร.ปรัชญากรณ์ ไชยคช จากม.หาดใหญ่
บ้านสวนสุขใจ คุณสะคราญนิตย์ นามละคร 089 265 9897
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 081 768 6816