ถ่ายภาพให้เล่าเรื่อง....ที่ชุมชนบ้านบุ
นิพนธ์ เรียบเรียง เรื่อง/ภาพ
ริมคลองบางกอกน้อยนั้นมากมายไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนและผู้คนที่อาศัยอยู่จึงเหมาะมากการกับการใช้เป็นสนามฝึกถ่ายภาพแบบเล่าเรื่องหรือ Photo Essay อย่างเช่นชุมชนบ้านบุที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน พวกเขามีวิชาทำ "ขันลงหิน" ติดตัวมาด้วย (ขันลงหินคือภาชนะสำหรับใส่อาหารและน้ำซึ่งใช้กันแพร่หลายในอดีต) ว่ากันว่านี่คือมรดกทางปัญญาที่สืบทอดกันหลายชั่วอายุคนตั้งแต่ปีพ.ศ.2310 จนถึงวันนี้
และที่นี่ก็ถือเป็นแหล่งสุดท้ายที่มีขั้นตอนการทำให้ได้ชมกัน โชคดีที่วันนั้นได้พบคุณเมตตาเจ้าของโรงงานจึงรู้ว่าขันลงหินที่เราเห็นนั้นทำจากโลหะสามชนิดคือ ทองแดง ดีบุก และเศษสัมฤทธิ์ เหมาะมากถ้าเอาไว้ใส่น้ำดื่มเย็นๆ เพราะทำให้น้ำยิ่งเย็นจัดจนจับเป็นไอในเวลาไม่นาน อีกจุดที่ควรแวะเก็บภาพนั่นคือ "ตลาดไร้คาน" เป็นตลาดเก่าอายุกว่า 80 ปี กับรูปแบบการก่อสร้างที่แตกต่างจากทั่วๆ ไป (ดูแล้วคล้ายโรงเก็บรถไฟ)
สำหรับคนที่ชอบแนววินเทจแนะนำให้เดินต่อไปที่ "โรงรถจักรธนบุรี" เป็นที่จัดเก็บและซ่อมรถไฟทั้งรถจักรดีเซลและรถจักรไอน้ำ ซึ่งตอนนี้ก็ยังเปิดใช้งานอยู่ โดยส่วนตัวผมเองชอบที่นี่มากเพราะรูปแบบตัวอาคารสำนักงานที่ทำจากไม้รวมทั้งสีสันของหัวรถจักรนั้นทำให้ถ่ายภาพเพลินจริงๆครับ แน่นอนว่าแต่ละชุมชนต้องมีวัดเป็นศูนย์กลางที่นี่มี "วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร" พระอารามหลวงชั้นโทที่มีจิตรกรรมฝาผนังโดดเด่นและงดงามซึ่งวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 รวมถึง "ร้านยาสงวนโอสถ" ร้านยาสุดคลาสสิกที่เปิดขายมากว่า 75 ปี
สนใจร่วมกิจกรรมถ่ายภาพครั้งนี้สอบถามได้ที่ TeL. 0814205572 / FB: Nipon Riabriang
การเดินทางมายังชุมชนบ้านบุ เขตบางกอกน้อย
- ขับรถเข้าซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 จอดที่โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม
- รถประจำทางสาย 40, 42, 56, 68, 509, 80, 108 และ 175
- นั่งเรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่ารถไฟ และขึ้นสองแถวแดง หรือนั่งเรือข้ามฝากไปท่าศิริราช แล้วเดินไปศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ขึ้นสองแถวแดง
- รถสองแถว (แดง) เล็กสายศิริราช-คลองสาน สายศิริราช-ตลาดพลู แล้วลงตรงสถานีรถไฟธนบุรี เลี้ยวซ้ายข้ามทางรถไฟเดินตรงมาก็ถึงหลังตลาดแล้ว