The Winner
เรื่อง : วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
เผยแพร่ : นิตยสารฮาร์เปอร์ส บาซาร์ (ไทย)
....เหล่าบรรดามหาอำนาจมักจะเรียกร้อง “สันติภาพ” อยู่เสมอ แต่ท้ายที่สุดแล้วเหตุการณ์ความขัดแย้งทั้งหลายล้วนจบลงด้วยโศกนาฎกรรม และสันติภาพก็ไม่เคยปรากฏขึ้นท่ามกลางสมรภูมิระหว่าง “ผู้ชนะ” กับ “ผู้แพ้” ด้วยจุดนี้จึงเป็นที่มาของโครงการเดอะวินเนอร์ส จากนักดนตรีชาวอิตาเลียน.....
จากแนวคิดที่ว่า “เราทุกคนคือหนึ่งเดียว” ได้ก่อเกิดปัญหาทางการเมืองแทบทุกหัวระแหง จนนักดนตรีอย่าง แอนเดรีย โมลิโน (Andrea Molino) ชาวอิตาเลียน เกิดข้อสงสัยว่าคนที่แตกต่างจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้หรือ เขาจึงสร้างสรรค์โครงการเดอะวินเนอร์ส โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อค้นหาคำตอบ และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าที่ได้ค้นพบ
“ผมเริ่มโครงการเมื่อ 3 ปีก่อน แล้วค่อยๆ พัฒนาและเพิ่งมาทำจริงจังเมื่อปีกว่าๆ นี้เอง โดยผมต้องการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของคำว่า “ผู้ชนะ” กับ “ผู้แพ้” ผมเชื่อว่าคงจะมีอะไรผิดปกติในคำ 2 คำนี้ ซึ่งน่าจะหาความหมายใหม่กับคำ 2 คำนี้ เพราะทุกๆ คนที่เป็นผู้ปกครองของประเทศมักจะพูดว่า “ฉันชนะ” หรือ “ฉันแพ้” การกล่าวเช่นนั้นอาจจะจริงหรือไม่ก็ได้ ผมคิดว่าสมัยก่อนการเดินทางลำบาก เราก็อาจจะมองเห็นภาพคนแปลกหน้าเป็นศัตรู หรือเป็นคนที่แตกต่างจากเรา แต่เดี๋ยวนี้การเดินทางง่ายดาย มีคนต่างกลุ่มมาอยู่กับเรา แม้ว่าไม่อยากอยู่กับเขาแต่ไม่มีทางเลือก เราจึงต้องหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นเราต้องก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่งที่ไม่สร้างความแตกต่างระหว่างกัน ไม่แบ่งแยกกันอีกต่อไป”
โครงการของเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดคอนเสิร์ตอย่างปกติ หากทว่าเขาได้คัดเลือกพื้นที่ที่คาดว่าจะให้ความหมายของคำว่าผู้ชนะและผู้แพ้จากโศกนาฏกรรม โดยเลือกไว้ 5 แห่ง คือ
นิวยอร์ก ซึ่งเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544,
เมืองชาร์ปวิล (Sharpeville) ในแอฟริกาใต้ วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1960 ตำรวจชาวผิวขาวได้ยิงคนผิวดำชาวพื้นเมืองซึ่งมาชุมนุมกันโดยสงบ ในครั้งนั้นมีสมาชิกของสภาแห่งชาติอัฟริกันเสียชีวิตทั้งสิ้น 69 คน ทำให้เนลสัน แมนเดลล่า ลุกขึ้นมาสร้างองค์กรเพื่อสันติภาพจากมุมมองใหม่,
เมืองเดรสเดน (Dresden) ในเยอรมัน เป็นเมืองที่สวยงาม แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวอังกฤษและชาวอเมริกันได้มาทิ้งระเบิดโดยไม่มีเหตุผล ทำให้พลเรือนเสียชีวิตนับล้านคน,
ที่มาราลิงกา (Maralinga) ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย ในค.ศ.1956-1961 มีการทดลองระเบิดปรมาณูของรัฐบาลอังกฤษ โดยรัฐบาลออสเตรเลียยินยอมและไม่แจ้งแ่กคนท้องถิ่นจนได้รับผลร้าย
และอยุธยา ซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดจบของยุคสมัยหนึ่ง แล้วก่อตัวกลายเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของไทย
เขาเริ่มต้นโครงการด้วยการเดินทางไปยังสถานที่ที่คัดเลือกไว้ แล้วไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ เพื่อเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ และเชิญนักดนตรีพื้นเมืองมาเข้าค่ายฝึกซ้อมที่อิตาลีเป็นเวลา 3 เดือน ในระหว่างที่เข้าค่ายก็ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเทคนิคการเล่นดนตรี และเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน
หลังจากนั้นก็กลับไปยังสถานที่ดังกล่าวอีกครั้งเพื่อทำการบันทึกเทปการเล่นดนตรีประกอบฉากสถานที่เหล่านั้น โครงการนี้มีผู้แสดงกว่า 100 คน ด้วยเครื่องดนตรี 120 ชิ้น แล้วจึงนำมาตัดต่อเพื่อนำเสนอบนเวทีในช่วงที่จะแสดงคอนเสิร์ต
ซึ่งบนเวทีนอกจากแสง สี เสียงครบถ้วนแล้ว จะมีการนำสื่อมัลติมีเดียเข้ามาเชื่อมโยงผู้ฟังจากที่ต่างๆ ส่งข้อความมาร่วมแสดงความรู้สึก โดยเพลงที่ใช้เล่นเป็นเพลงในแนวคลาสสิกร่วมสมัยผสมผสานไปกับเพลงพื้นถิ่นจากที่ต่างๆ บรรเลงยาวอย่างต่อเนื่อง 80 นาที
สำหรับประเทศไทย เขาเลือกใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็งเล่นเพลงแสนคำนึงและเพลงอาหนู วงปี่พาทย์ไม้นวมเล่นเพลงระบำกวางและระบำไกรลาสสำเริง และวงมโหรีเล่นเพลงเจ้าเซ็น ด้วยฉากที่เป็นซากปรักหักพังของวัดในอยุธยา
“ขณะที่ไปบันทึกการแสดง ผมได้จินตนาการถึงภาพอยุธยาที่ยังสมบูรณ์อยู่ แล้วจินตนาการไปถึงเหตุผลของการถูกทำลาย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้นเมื่อมาครั้งแรก จึงอยากกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าอยุธยาจะเป็นจุดกำเนิดของกรุงเทพฯ แต่ก็มีจิตวิญญาณไม่เหมือนกัน กรุงเทพฯ เติบโตไปเป็นตัวเอง แต่ถ้าไม่มีอยุธยาก็ไม่มีประเทศไทย ทั้งสองต่างมีตัวตน (Identity)
ที่ไม่เหมือนกันตรงที่ว่าได้ผ่านสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วการได้กลับไปยังดินแดนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ก็เหมือนกลับไปพูดคุยสื่อสารกับวิถีชีวิตที่ฝังอยู่ในที่แห่งนั้นได้ แม้ว่าทางวัตถุจะเหลือแต่ซากปรักหักพัง แต่ในทางจิตวิญญาณก็ยังคงดำเนินชีวิตต่อไป ไม่ใช่เมืองที่ตายไปแล้ว และคุณจะค้นพบตัวตนของความเป็นไทยได้เมื่อไปสัมผัสสถานที่เหล่านั้น
ในขณะไปยังที่ต่างๆ ผมได้พบว่า ปฏิกิริยาของคนในสถานที่นั้นๆ เมื่อต้องเผชิญวิกฤตการณ์ เขามีแนวคิดต่อเหตุการณ์นั้นอย่างน่าประหลาดใจ ผมได้เรียนรู้สังคม วัฒนธรรม ความรู้สึกของคน และเทคนิคการแสดงต่างๆ
เช่น คนที่นิวยอร์กจะรู้สึกผิดที่เขายังมีชีวิตอยู่ขณะที่เพื่อนของเขาตายไปในเหตุการณ์ 11 กันยาฯ หรือขณะที่ที่แอฟริกาใต้ แม้ว่าคนผิวดำจะได้อิสระมา 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังเผชิญกับความยากจนและปัญหาต่างๆ จึงเกิดคำถามว่า “เป็นไปได้ไหมที่จะลืมหรือให้อภัย” เพราะคนให้อภัยจะตั้งต้นชีวิตใหม่ได้
เราไม่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเพื่อหาจุดจบ เราควรทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่ร่วมไปกับปัญหาเหล่านั้นอย่างสันติ เพราะทุกคนที่อยู่ร่วมกันล้วนมีความแตกต่าง แต่ละคนก็มีสิทธิที่จะมีตัวตนอยู่ และได้รับการยกย่องนับถือเท่ากัน ในความต่างก็ย่อมมีความเหมือน และนั่นคือระเบียบประเพณี (Tradition) ซึ่งจะคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อคนยังนำมาปฏิบัติให้ดำเนินต่อไป”
โครงการของเขานับเป็นอีกกิจกรรมที่ทางสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ให้การสนับสนุนเพื่อสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างกัน H.E. Mr. Ignazio Di Pace เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยได้เปิดเผยว่า
“ประเทศไทยและอิตาลีมีความคล้ายคลึงกันอยู่ตรงที่มีรากฐานมาจากความมีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศจะได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมจากรอบๆ ข้าง แต่ยังมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่ ทำให้เกิดลักษณะของชนชาติขึ้นมา
เช่น การยอมรับความแตกต่างได้ จากบุคลิกภาพที่คล้ายกันนี้ทำให้อยากส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องประเทศไทยให้มากขึ้น เพราะไทยและอิตาลีมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ดีต่อกันมาโดยตลอด
สำหรับงานของแอนเดรีย โมลิโน เป็นแนวคิดที่มีพลัง สะท้อนให้เห็นชัดถึงความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ซึ่งเป็นสิ่งที่แบ่งแยกเรากับสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ หรือสัตว์ เป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันได้และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งยังส่งผ่านไปถึงคนรุ่นหลังที่จะตามมา และเปรียบเหมือนประตูเปิดสู่เรื่องราวทางการค้าและการเมือง
ดังนั้นการสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรม ก็เพื่อที่จะเรียนรู้ถึงความเจริญซึ่งกันและกัน เพราะโลกเล็กลง เราติดต่อถึงกันสะดวกรวดเร็ว เมื่อต้องอยู่ร่วมกันก็ต้องพบกัน แบ่งปัน และเปิดเผยจริงใจต่อกัน”