"มจร."ลงนาม MOU ม.โปแลนด์ ปั้นหลักสูตรร่วมสาขาสันติศึกษา
หวังสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งนำพระพุทธศาสนาในรูปแบบของสถาบันเข้าสู่ทวีปยุโรป
published by banmuang.co.th
วันที่ 27 มิถุนายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยจอจิโลเนียน คราเคา ประเทศโปแลนด์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) นำโดย ศ.ดร.พระราชปริยัติกวี, รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. และมหาวิทยาลัยจาจิโลเนียน คราเคา นำโดย ศาสตราจารย์อาวุโส ดร.พิอ๊อตร์ คลอคร๊อฟสกี้ (Piotr Klodkowsk) และ ศ.ดร.มารต้า คุเดสก้า (Marta Kudelska) ผู้อำนวยการอารยธรรมศึกษาเปรียบเทียบ ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง ศ.ดร.ฮาบิล มัลกอซาต้า กอสซอวาสก้า (Habil Malgorzata kossowska) คณบดีคณะปรัชญา มหาวิทยาลัยจาจิโลเนียน คราเคา กับรศ.ดร.พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร. โดยมีวัตุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นิสิต การทำวิจัยร่วม และจัดทำหลักสูตรร่วมกันระหว่างสองมหาวิทยาลัย ซึ่งหลักสูตรที่จะเปิดร่วมกันครั้งแรกในปี 2562 คือ "หลักสูตรปริญญาโทและเอก สาขาสันติศึกษา"
ศาสตราจารย์อาวุโส ดร.พิอ๊อตร์ คลอคร๊อฟสกี้ ได้กล่าวในพิธีลงนามความร่วมมือว่า
"การลงนามครั้งนี้ จัดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของสองมหาวิทยาลัยในเอเซียและยุโรป ซึ่งเป็นการเชื่อมสะพานความร่วมมือกัน โปแลนด์มีจุดเด่นที่เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ตรงกลางของยุโรป แต่จุดอ่อนคือ เมื่อประเทศมหาอำนาจรบกัน ทั้งเยอรมันและรัสเซีย ประเทศที่มีพื้นที่ตรงนั้นมักจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
สิ่งที่ทำให้โปแลนด์อยู่รอดมาได้คือ "การประนีประนอม" กับประเทศใหญ่ๆ รวมถึงการจับมือกับประเทศเล็กๆ ที่มีชายแดนติดกัน เพื่อถ่วงดุลกับประเทศใหญ่ ฉะนั้น สันติศึกษาจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่เราจะต้องพัฒนาเป็นหลักสูตรให้มีการศึกษา"
ขณะที่ ศ.ดร.พระราชปริยัติกวี ได้ย้ำว่า
"การร่วมมือของทั้งสองมหาวิทยาลัยเป็นก้าวย่างที่สำคัญด้านการจัดการศึกษา ในโลกยุคปัจจุบัน ในขณะที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ สถาบันการศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมตอบคำถาม และประเด็นใหม่ให้แก่สังคมโลก และถือเป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยทั้งสอวจะได้ร่วมกันใช้ศักยภาพที่มีร่วมกันพัฒนาหลักสูตร และร่วมมือในประเด็นอื่นๆ"
สำหรับปรัชญา ความคิด และสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องการลงนามครั้งนี้ ส่วนตัวในฐานะผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติที่พยายามผลักดันและลงมือทำเรื่องนี้ มีหลายเหตุผลและตัวแปร สามารถสรุปเป็นสำคัญดังนี้
1. สร้างเวทีพระพุทธศาสนาสู่นานาชาติ และเปิดพื้นที่สถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาสู่สายตาของโลก สมาคมมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ และสมาคมวิสาขบูชาโลก ซึ่งมี ศ.ดร.พระพรหมบัณฑิต เป็นประธานของทั้งสองสมาคม และมวลสมาชิก มีพันธกิจสำคัญในการกำหนดนโยบายในการทำงานดังกล่าว
ในขณะที่มหาวิทยาลัยพุทธ ร่วมถึงมหาจุฬาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติเข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม
2. ตัวเล็ก ถ้าจะใหญ่ ต้องสร้างเครือข่าย และหาพันธมิตรร่วม การที่มหาจุฬาฯ ประกาศวิสัยทัศน์ "มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาระดับโลก" นั้น ลำพังตัวเองมิอาจเข้าถึงวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้ในเวลาอันใกล้ แต่มหาจุฬาฯ มีจุดแข็ง คือ เครือข่ายชาวพุทธทั่วโลก ที่เป็นทั้งมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆ
จะเห็นว่า การจัดวิสาขโลกเป็นตลาดนัดทางวิชาการ (Academic Sunday Market) ที่นำผู้นำชาวพุทธ และนักวิชาการพุทธ มาพบปะและแลกเปลี่ยนกันกว่า 15 ปีแล้ว อันเป็นการบ่มเพาะมิตรภาพ และการร่วมมือในเชิงลึกไปสู่สัมมนา แลกเปลี่ยนนักศึกษา ทำกิจกรรม และสร้างหลักสูตรต่างๆ ร่วมกัน
มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในโลก และอเมริกา อาจจะไม่สนใจมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก แต่การที่มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาขนาดเล็กจับมือกัน ผนึกกำลังกันทำงานแบบข้ามทวีป จึงเป็นการสร้างพลังเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ได้
3. นำจุดแข็งมาเป็นแรงขับเคลื่อน จุดแข็งของมหาวิทยาลัยจาจิโลเนียน คราเคา คือ การเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ค่ายกักกันนรกเอ้าท์วิช ที่ทหารนาซีนำนักโทษและเชลยศึกกว่า 70 ประเทศในยุโรปและนอกยุโรปมากักขัง เป็นทาส แรงงาน หนูลองยาทางวิทยาศาสตร์ และรมแก๊สพิษ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนในสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งโปแลนด์คือสะดือยุโรป อันเป็นศูนย์กลางระหว่างพื้นที่ของสงคราม ความรุนแรง และความขัดแย้ง
ในขณะที่มหาจุฬาฯ มีจุดแข็งที่มีหลักสูตรสันติศึกษา ที่ผ่านการทดลองกว่า 5 ปี อีกทั้งเป็นจุดแข็งของพระพุทธศาสนา และคำว่า Peace Studies เป็นคำที่กระแสของกำลังสนใจ เพราะสามารถเชื่อมคนต่างๆ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
และที่สำคัญคือ โปแลนด์มองเห็นจุดแข็งของสันติศึกษาว่าสามารถเชื่อมกับยุโรปในฐานพชะที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและความรุนแรง
4. ถ้าอยากจะได้ปลาตัวใหญ่ ต้องลงไปจับในทะเลลึก ถ้าอยากได้ปลาซิว หรือปลาตัวเล็ก ต้องจับแถวตลิ่งหรือชายฝั่ง ประเด็นะคือ ไม่ใช่ว่า ปลาตัวเล็กไม่สำคัญ ปลาเล็กหรือใหญ่ล้วนสำคัญ แต่การออกเดินทางไปหาแหล่งเรียนรู้ และความร่วมมือในวิถีที่กว้างออกไป จะทำให้พบโอกาส และช่องทางใหม่ๆ ในการร่วมมือ และทำงานกับกลุ่มคนต่างๆ ที่มีราว 5-7 พันล้านคนทั่วโลก อันเป็นการขยายฐานจาก 600 ล้านของอาเซียน
ตลาดการศึกษามีอยู่ทั่วโลก ฉะนั้น โคลัมบัสทางการศึกษาจึงจำเป็นและสำคัญมาก การออกเดินทางมีความเสี่ยงในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ แต่หากความเสี่ยงคือการนำโอกาส และประสบการณ์ไปร่วมแบ่งปันกับเพื่อนมนุษย์ จึงไม่ควรเสียเวลาที่จะลังเลและรั้งรอเพราะความหวาดกลัว หรือไม่พร้อม พระพุทธเจ้าไม่เคยหวาดกลัวผู้ใหญ่หรือสิ่งใด ฉะนั้น สาวกของพระพระองค์จึงควรมุ่งมั่นออกไปทำหน้าที่รับใช้เพื่อนมนุษย์เช่นกัน
การใช้สถาบันการศึกษาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงระหว่างมหาจุฬาฯ กับมหาวิทยาลัยจานิโลเนียน ประเทศโปแลนด์ครั้งนี้ จึงเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่จะนำพระพุทธศาสนาในรูปแบบของสถาบันเข้าสู่ทวีปยุโรป หลังจากที่ทำสำเร็จมาแล้วกับมหาวิทยาลัยธรรมะ เกท ปูดาเปสต์ ประเทศฮังการี
และที่สำคัญการเปิดหลักสูตรร่วมสาขาสันติศึกษาจึงเป็นการทำงานร่วมกันในจังหวะ และเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสมในสถานการณ์ที่โลกกำลังเข้าสู่สถานการณ์ของความขัดแย้ง และความรุนแรง และทุกคนกำลังแสวงหาขันติธรรม ในการอยู่ร่วมกับความแตกต่างทางความเชื่อวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างมีสติ และสันติสุข
การนำเสนอพระพุทธศาสนาผ่านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา จะทำให้กลุ่มคนที่มีความเชื่อต่างสามารถเปิดใจในการศึกษา และเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
...............
ที่มา :
- http://www.banmuang.co.th/news/education/116563
(วันศุกร์ ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561, 00.45 น.)
- เฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso