บี.กริม เฉลิมฉลองครบรอบ 140 ปี จัดนิทรรศการ
“ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม”
วันที่ 10 – 20 มิถุนายน 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม จัดงานแถลงข่าว ฉลองวาระครบรอบ 140 ปีของ บี.กริม ด้วยนิทรรศการประวัติศาสตร์และศิลปะครั้งสำคัญ ภายใต้ชื่อ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 10:30-12:00 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
บี.กริม ฉลองครบรอบ 140 ปี ในประเทศไทย ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ทายาทตระกูลลิงค์ สัญชาติเยอรมันรุ่นที่ 4 ที่ได้รับใช้ประเทศและราชวงศ์จักรีเป็นเวลายาวนานถึง 6 รัชสมัย
• ชมหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ที่สมบูรณ์ที่สุด อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี
• ชมผลงานจาก 15 ศิลปินไทยร่วมสมัย ที่ได้แรงบันดาลใจจาก การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีของ ‘ห้างบี.กริม’ ที่มีอายุยาวนานที่สุดในประเทศไทย
ในวาระครบรอบ 140 ปี บี.กริม ได้จัดนิทรรศการเพื่อถ่ายทอดและจัดแสดงเรื่องราวความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเยอรมันและสยาม รวมถึงเรื่องราวการดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลา 140 ปีของ บี.กริม ในประเทศไทย
อันเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมานานกว่า 200 ปี ผ่านการสื่อสารทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศไทยและเยอรมัน (Postal History Collection) มาจัดแสดงขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับคนรุ่นหลังและทุกคนเพื่อได้เห็นถึงเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษในฐานะที่บริษัท บี.กริมได้ร่วมทำกิจการรับใช้ประเทศเสมอมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 140 ปี
การ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” จัดแสดงแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ “เรื่องเล่าจากการสื่อสารทางไปรษณีย์ ความสัมพันธ์ไทย – เยอรมนี และ 140 ปี บี.กริม” และ การจัดแสดงงานศิลปะโดยศิลปินไทยร่วมสมัย 15 ท่าน เพื่อระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานหอศิลปะกรุงเทพฯ
• นิทรรศการหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ที่สมบูรณ์ที่สุด อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี
“เรื่องเล่าจากการสื่อสารทางไปรษณีย์ ความสัมพันธ์ไทย – เยอรมนี และ 140 ปี บี.กริม” จัดแสดงหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ (Postal History) อันทรงคุณค่า อายุมากกว่า 100 ปี จำนวน 50 ชิ้นจากทั้งหมด 232 ชิ้น ซึ่งหาดูได้ยากยิ่ง หลักฐานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นการสื่อสารทางไปรษณีย์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังส่งทางเรือ จนถึงรัชกาลที่ 9 โดยแบ่งเป็น 6 หมวดสำคัญ ได้แก่ หลักฐานการสื่อสารของผู้ก่อตั้งบี.กริม หลักฐานการสื่อสารระหว่างสมาชิกตระกูลลิงค์ หลักฐานการสื่อสารทางการทูตระหว่างกงสุลเยอรมนีและสยาม หลักฐานการสื่อสารทางธุรกิจของบี.กริม หลักฐานการสื่อสารของบริษัทเยอรมันที่เข้ามาทำธุรกิจในสยาม และชุดไปรษณียบัตรที่ส่งโดยสมาคมชาวเยอรมันในบางกอก
นิทรรศการครั้งนี้ นับเป็นการจัดแสดงหลักฐานการสื่อสารทางไปรษณีย์ที่สมบูรณ์ที่สุด ที่แสดงความ สัมพันธ์ไทย - เยอรมนี และการดำเนินธุรกิจตลอดเวลา 140 ปีของ บี.กริมในประเทศไทย อาทิ ซองจดหมาย ตราประทับ ตราไปรษณียากร การ์ดไปรษณียบัตร และไปรษณียบัตรรูปภาพ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แห่งการมีตัวตนอยู่จริงของบุคคลสำคัญ ทั้งยังสะท้อนภาพอดีตและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การคมนาคม และสภาพสังคมของทั้งสองประเทศอย่างชัดเจน นับเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ที่ช่วยเติมเรื่องราวให้หน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 5 รัชสมัยของ บี.กริม เกิดเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้ในที่สุด
นักสะสมและภัณฑารักษ์นำหลักฐานเหล่านี้มาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าสำหรับคนรักประวัติศาสตร์ ในนิทรรศการครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ชมสามารถย้อนอดีตไปกับเรื่องราวความสัมพันธ์ของประเทศเยอรมนีและประเทศไทย พร้อมสอดแทรกเกร็ดความรู้เรื่องการค้าของ บี.กริม “ห้างฝรั่ง” ที่เก่าแก่ที่สุดของไทยที่ดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องมาถึง 6 รัชกาล ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
• นิทรรศการผลงานจาก 15 ศิลปินไทยร่วมสมัย ที่ได้แรงบันดาลใจจากการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีของ บี.กริม - ‘ห้างฝรั่ง’ ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
นอกจากเกร็ดประวัติศาสตร์ที่มาทางไปรษณีย์แล้ว นิทรรศการครั้งนี้ ยังเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของศิลปินไทยร่วมสมัยถึง 15 ท่าน ได้แก่ พินรี สัณฑ์พิทักษ์, ธวัชชัย พันธุสวัสดิ์, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร, ดร. คธา แสงแข, กฤช งามสม, อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์, ปานพรรณ ยอดมณี, ดุษฎี ฮันตระกูล, เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์, ชูศักดิ์ ศรีขวัญ, สุรเจต ทองเจือ, ถกล ขาวสอาด, อานนท์ ไพโรจน์, ธิติพร โกธรรม และ ฐิติรัตน์ สกุลตันติเมธา
ที่รวมตัวกัน สร้างสรรค์ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจาก ปรัชญาการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี (Doing business with compassion) อันเป็นแนวคิดที่ บี.กริม ยึดถือมาตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจจวบจนปัจจุบัน
ศิลปินทั้ง 15 ท่าน ทำความ เข้าใจและตีความ “วิธีทำธุรกิจแบบ บี.กริม” ที่ดำเนินธุรกิจมายืนยาวคู่สังคมไทยนานถึง 140 ปี ก่อนนำเสนอ ผ่านงานศิลปะร่วมสมัย 15 ชิ้น
ผู้ร่วมงานแถลงข่าวทั้ง 8 ท่าน ยังได้บอกเล่าเรื่องราวของ บี.กริมในแง่มุมต่างๆ ได้แก่
1) ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม
2) คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที เลขานุการมูลนิธิ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
3) คุณยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ผู้แต่งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ “ฝากไว้ในแผ่นดิน”
4) คุณโลร็อง มาแลสปีน ผู้ผลิตสารคดี ประวัติศาสตร์ “140 ปี บี.กริม”
5) คุณกฤชทิพย์ ศิริรัตน์ธำรงค์ นักสะสมหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์
6) ดร. คธา แสงแข หนึ่งใน 15 ศิลปิน ผู้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานในนิทรรศการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม”
7) คุณเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF ประเทศไทย
8) คุณอัจฉรา เตชะไพบูลย์ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิวงดุริยางค์ ซิมโฟนีกรุงเทพ
งานแถลงข่าวเปิดนิทรรศการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ บี.กริม บริษัท สัญชาติเยอรมันได้บันทึกหน้าประวัติศาสตร์การทำธุรกิจที่ตั้งอยู่บนปณิธานแห่งความมุ่งมั่นจะให้สังคมไทยโดย รวมประสบความสำเร็จ เจริญก้าวหน้า และมีความสุขร่วมกัน เพื่อเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดินไทยที่ บี.กริมได้รับมาตลอดระยะเวลา 140 ปี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิด นิทรรศการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 10 มิถุนายน 2561 และนิทรรศการจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่วันที่ 11 จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2561