Precious Past
เครื่องกระเบื้องในไทยนั้นล้ำค่า
ด้วยการผลิตอันประณีตและเรื่องราวเปี่ยมประวัติศาสตร์
ยามย่างเข้ามาในบ้านของพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ผู้มาเยือนอาจรู้สึกเหมือนกำลังแทรกตัวเข้าไปอยู่ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ภายในห้องคอนโดสูงของเธอในย่านเย็นอากาศ มีหน้าต่างบานใหญ่ซึ่งสามารถมองเห็นวิวอันน่าตื่นตาของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์สำหรับผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมราคาแพงลิบกระนั้น ภาพวิวดังกล่าวอาจกลายเป็นสิ่งสุดสามัญเมื่อเทียบกับของที่เรียงรายภายในคอนโดกล่าวคือเครื่องกระเบื้องละลานตา
พิมพ์ประไพคือนักวิชาการด้านเซรามิกในเอเชียที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของประเทศ เธอเขียนหนังสือเกี่ยวกับงานเครื่องกระเบื้องหลายเล่มซึ่งเป็นที่รู้จัก พิมพ์ประไพเป็นคณะกรรมการสยามสมาคมฯ และสืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าเรือสำเภาจีน ผู้นำเข้าเครื่องเคลือบจีนให้กับเหล่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เธอใช้เวลาหลายทศวรรษเดินทางไปทั่วเอเชียเพื่อเสาะหาถ้วยชามรามไหเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่ยามเปิดประตูเข้ามาที่คอนโดของเธอ เครื่องกระเบื้องสารพัดขนาดและรูปทรงจึงปรากฏอยู่แทบทุกเคาน์เตอร์ โต๊ะ ตู้ และชั้นวางของในบ้าน
เธอยินดีพาผู้ที่สนใจเดินชมบ้านของเธอ โดยจะตั้งต้นที่ห้องจัดแสดงเครื่องกระเบื้อง ซึ่งมีคอลเลกชันเครื่องเคลือบจีนกว่าร้อยชิ้นในตู้เก็บของหลายหลัง ทุกชิ้นได้รับการจัดเรียงตามช่วงเวลา เริ่มตั้งแต่เครื่องถ้วยโบราณไปจนถึงสมัยที่ตระกูลเธอทำการค้าขายบนเรือสำเภาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 “เราเป็นนักเขียนและนักวิชาการ ไม่ใช่นักสะสม เราแค่เก็บสะสมเครื่องเคลือบพวกนี้ระหว่างการค้นคว้าเพื่อใช้ในการเขียนหนังสือเท่านั้น” เธอกล่าวอย่างถ่อมตน
การเข้าเยี่ยมชมห้องจัดแสดงของพิมพ์ประไพทุกครั้งจะเริ่มต้นด้วยการ ‘บรรยาย’ ถึงแม้เธอจะยืนยันว่าคอลเลกชันของเธอนั้นเล็กมากเมื่อเทียบกับมหาเศรษฐีนักสะสมผู้คลั่งไคล้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย-จีน แต่ก็ยังน่าประทับใจอยู่ดี โดยชิ้นเก่าแก่ที่สุดของเธอนั้นคือชามจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 5,000 ถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งพ่อของเธอได้รับเป็นของขวัญจากมหาเศรษฐีชาวฮ่องกงที่ไปได้มาจากงานประมูลของโบราณ ถัดไปอีกไม่กี่ตู้ คือคอลเลกชันเครื่องกระเบื้องลายไทยหายากซึ่งนำเข้าจากประเทศจีน
“เราภูมิใจกับคอลเลกชันนี้มาก เพราะรู้ว่าคนอื่นไม่มี ดูจากสีคราม การขึ้นเงา และลวดลายแล้วก็จะบอกได้ว่าเครื่องกระเบื้องพวกนี้มาจากกรุงศรีอยุธยาช่วง พ.ศ. 2310 ซึ่งเป็นสมัยก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2” เธอเล่า
............................
ประวัติศาสตร์การผลิตเครื่องกระเบื้องของไทยนั้น
สามารถย้อนกลับไปได้หลายร้อยปี
และเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับประเทศจีน
............................
คอลเลกชันเครื่องกระเบื้องจากสมัยกรุงศรีอยุธยาในช่วงศตวรรษที่ 18 ของเธอนั้นเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันยาวนานของไทยและจีนในด้านการค้าขายเครื่องเคลือบ ประวัติศาสตร์การผลิตเครื่องกระเบื้องของไทยนั้นสามารถย้อนกลับไปได้หลายร้อยปี และเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับประเทศจีน ช่างฝีมือและลูกค้าชาวไทยนั้นชื่นชอบลวดลายและการออกแบบของบ้านเรามากกว่าของจีน แต่เนื่องจากในอดีต ช่างฝีมือไทยยังไม่มีความชำนาญในการเผา ปั้นและเคลือบเงาอย่างชาวจีน เครื่องเคลือบจำนวนไม่น้อยบนผืนแผ่นดินไทยจึงสามารถย้อนรอยกลับไปยังประเทศจีนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ประวัติศาสตร์เครื่องปั้นดินเผาจีนนั้นมีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนสมัยที่จีนจะมีราชวงศ์ แต่การเคลือบเงาเครื่องกระเบื้องนั้นเริ่มมีปรากฏให้เห็นครั้งแรกในยุคราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161-1450) โดยเผาด้วยวัสดุที่บริสุทธิ์มากขึ้นและมีการเคลือบเงา พอถึงสมัยราชวงศ์หยวน ชาวมุสลิมได้เข้ามาทำการค้าในประเทศจีน ขณะที่พ่อค้าชาวเปอร์เซียก็เริ่มนำเข้าสีย้อมและแร่ต่างๆ ที่ใช้ในการลงสีและทำเครื่องปั้นดินเผาเข้ามา หนึ่งในนั้นคือแร่โคบอลต์ออกไซด์ ที่ใช้ในการผลิตสีน้ำเงินเข้ม อันเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ได้ปฏิวัติวงการเครื่องกระเบื้องจีน
เทคนิคเหล่านี้ยังนำไปสู่การปฏิวัติการค้าบนเส้นทางสายไหมด้วย เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ซึ่งจีนเพิ่งเริ่มผลิตได้อย่างเชี่ยวชาญ ได้กลายมาเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดอย่างหนึ่งบนเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทะเล และเครื่องเคลือบดังกล่าวนั้นเริ่มหลั่งไหลเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาผ่านท่าเรือ
“มีซากเรืออับปางประมาณร้อยลำ ซึ่งบรรทุกเครื่องกระเบื้องและสินค้าอื่นๆ ถูกค้นพบในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ไปถึงจนกระทั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแอตแลนติก” อัตถสิทธิ์ สุขขำ เล่า เขาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี 2543 เพื่อฉลองวันครบรอบวันก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ และจัดแสดงเครื่องกระเบื้องโบราณที่บริจาคโดยสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยและนักสะสมเครื่องกระเบื้องคนสำคัญของไทยผู้ล่วงลับ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงเครื่องกระเบื้องที่ค้นพบในประเทศไทย บทบาทของอัตถสิทธิ์ในฐานะผู้ช่วยภัณฑารักษ์ประกอบไปด้วยการวิจัย การส่งเสริมการเรียนรู้ และการจัดแสดง
ช่างฝีมือใช้เวลาหลายเดือนออกแบบลวดลายในประเทศไทย จากนั้นจึงเดินทางไปถึงประเทศจีน และใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อเดินเท้าเข้าไปคุมงานที่แหล่งผลิต ซึ่งจะหยุดชะงักในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน
อัตถสิทธิ์เล่าว่า อยุธยาเป็นศูนย์กลางทางการค้าของไทย โดยเครื่องกระเบื้องซึ่งนำเข้ามาในราชอาณาจักรนั้นเป็นสินค้าที่ราชสำนักสั่งทำพิเศษ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับประเทศจีน ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบเหล่านี้จึงถูกมองว่าเป็นสมบัติของราชวงศ์และชนชั้นสูงของไทยในขณะนั้น
“ขั้นตอนการสั่งซื้อต้องใช้ความอดทนอย่างสูง ลูกค้าชาวไทยต้องรอ 2 ปีกว่าจะได้สินค้า ช่างฝีมือใช้เวลาหลายเดือนออกแบบลวดลายในประเทศไทย จากนั้นจึงเดินทางไปถึงประเทศจีน และใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อเดินเท้าเข้าไปคุมงานที่แหล่งผลิต ซึ่งจะหยุดชะงักในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน จนการทำให้ทุกอย่างเสร็จภายในหนึ่งฤดูการขนส่งทางเรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นจึงไม่ใช่แค่รายละเอียดอันน่าทึ่งของลวดลายไทยที่ทำให้เครื่องเคลือบเหล่านี้ล้ำค่า แต่เป็นหยาดเหงื่อแรงงานตลอดทั้งกระบวนการผลิต ถ้าอยากได้งานที่สวยและละเอียดขนาดนี้ ก็ต้องรอ” พิมพ์ประไพกล่าว
นอกเหนือจากคอลเลกชันส่วนตัวของพิมพ์ประไพ ยังมีเครื่องเคลือบอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับการจัดแสดงที่ ‘พิพิธภัณฑ์บ้านไทยจิม ทอมป์สัน’ซึ่งเน้นไปที่เครื่องเคลือบลายไทย-จีน ที่ออกแบบตามคำสั่งทำพิเศษของราชสำนักไทย
เจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้ล่วงลับไปแล้ว และผู้ก่อตั้งบริษัทผ้าไหมไทย จิม ทอมป์สัน อันโด่งดัง คือ นักสะสมโบราณวัตถุตัวยง ในช่วงปลายยุค ‘50s เขาได้ตัดสินใจสร้างบ้านเรือนไทยหลังงามซึ่งจัดแสดงคอลเลกชันส่วนตัวของเขา และต่อมากลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อบ้านจิม ทอมป์สัน ดังที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้า บรูโน เลอเมอร์ซิเอร์ ผู้ดูแลอาวุโส มูลนิธิ James H.W. Thompson Foundation กล่าวว่าจิม ทอมป์สันใช้เวลาอยู่พักหนึ่งกว่าความสนใจในเครื่องเคลือบของเขาจะสุกงอม ซึ่งในระยะหลังเขาได้มุ่งความสนใจไปที่เครื่องกระเบื้องส่งออกของจีนซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่า เครื่องเคลือบในคอลเลกชันของเขาส่วนใหญ่ทำขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17 โดยหลายชิ้นมีถิ่นกำเนิดมาจากอยุธยาแต่ผลิตขึ้นในประเทศจีน
บรูโนทำหน้าที่เป็นไกด์พาชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นประจำ บ้านทรงไทยหลังนี้ตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยเครื่องกระเบื้องล้ำค่า อ่างปลาขนาดใหญ่ และเก้าอี้สนามเครื่องเคลือบซึ่งมีลวดลายบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ถูกวางโชว์อยู่บนโต๊ะไหว้เจ้า และยังคงอยู่ในสภาพเดิมกับที่จิม ทอมป์สันทิ้งไว้ เขาหายตัวไปอย่างลึกลับในปี 2510 และไม่เคยได้มีโอกาสอธิบายถึงของสะสมโบราณวัตถุของเขา จึงยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบันว่าอะไรทำให้เขาเลือกสะสมเครื่องกระเบื้องตั้งแต่แรก และเขาก็ไม่เคยกล่าวระบุชัดถึงที่มาที่แน่นอนของเครื่องกระเบื้องแต่ละชิ้นด้วย
“แต่เราทราบว่าเขาไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ศิลปะ อะไรที่เขาชอบเขาก็ซื้อ และไม่ได้แค่ซื้อมาเก็บ แต่ละชิ้นถูกจัดวางอย่างพิถีพิถันตามมุมต่างๆ รอบบ้าน ซึ่งเป็นจุดที่เขาจะเฝ้าชื่นชมความงามของมันได้” บรูโนกล่าว
แม้เครื่องกระเบื้องที่มีชื่อเสียงของไทย เช่น สุโขทัย สวรรคโลก และเบญจรงค์ จะเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสม แต่กระนั้นเครื่องเคลือบลายครามของจีนก็ยังเป็นที่นิยมที่สุดในหมู่นักสะสมมากประสบการณ์และนักประวัติศาสตร์ด้วยเหตุผลนานับประการ
..................................
นักสะสมแทบทุกคนต้องเคยโดนหลอกขายของปลอมมาบ้าง
และเพื่อจะให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวน้อยที่สุดนั้น
ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญ
ซึ่งนักสะสมรุ่นใหม่น้อยรายนักจะมี
..................................
“เครื่องเคลือบเหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการผลิตอันน่าทึ่ง มีความทนทานสูง และเป็นมรดกตกทอดภายในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น รูปทรงและลวดลายของเครื่องลายครามนั้นเหมาะแก่การใช้งาน แลดูวิจิตรงดงาม และแฝงไปด้วยนัยยะสำคัญกว่าเครื่องเคลือบประเภทอื่น มันสะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินการดื่มของชาวจีน รวมทั้งความเชื่อ และสถานะทางสังคมได้อย่างครบถ้วน สำหรับชาวจีนแล้ว การสะสมเครื่องลายครามบ่งบอกถึงความสำเร็จที่สั่งสมมาทั้งชีวิต” อัตถสิทธิ์อธิบาย
พลพัฒน์ โสภณสกุลรัตน์ แห่ง T&A Gallery แกลเลอรีศิลปะภายในศูนย์การค้า River City แสดงความเห็นในทำนองเดียวกัน “คนจีนมองว่าวัตถุนั้นเป็นเครื่องสะท้อนตัวตน และยังเชื่อในพลังของสัญลักษณ์ และงานศิลปะที่สวยงามบนเครื่องกระเบื้องเหล่านี้ก็แสดงถึงความเชื่อนี้เป็นอย่างดี เช่น ปลาทองนั้นเป็นตัวแทนแห่งความเจริญรุ่งเรือง ส่วนมังกรแสดงถึงพลังอำนาจและความแข็งแกร่ง” เขาอธิบาย
พลพัฒน์เป็นบุตรชายของวีระวัฒน์ โสภณสกุลรัตน์ หนึ่งในผู้ค้าเครื่องกระเบื้องเอเชียตะวันออกอันดับต้นๆ ของไทย แม้เขาจะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางธุรกิจนี้ แต่กว่าจะเริ่มสนใจเครื่องกระเบื้องจริงๆ ก็หลังเขาได้เรียนวิชาศิลปะจีนสั้นๆ ที่มหาวิทยาลัย SOAS University ในลอนดอน (หลังจบปริญญาตรีสาขามัณฑนศิลป์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านการสร้างตราสินค้าจากมหาวิทยาลัย Brunel University ในลอนดอน) ท้ายที่สุดเขาได้ขอเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัว ซึ่งในขณะนั้นมีชื่อว่า VRP Collection โดยได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ทั้งหมด
บริษัทมุ่งความสนใจไปที่เครื่องเคลือบจีน และพลพัฒน์กล่าวว่าคนหาซื้อเครื่องกระเบื้องเหล่านี้ เท่ากับกำลังซื้อส่วนหนึ่งของมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ “ชิ้นนี้อายุ 500 ปี” เขาเอ่ยพลางชี้ไปที่เครื่องกระเบื้องชิ้นหนึ่งในตู้โชว์ “มันวนเวียนอยู่ในตลาดมานานมาก สำคัญมากที่ต้องทำให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้แค่กำลังซื้อถ้วยไหธรรมดาๆ แต่ละชิ้นนั้นมีเรื่องราวของตัวเอง”
เขาผายมือไปที่แจกันสวยคู่หนึ่งที่มีอายุ 120 ปี ซึ่งทำขึ้นในช่วงราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2187-2455) “ปกติแล้ว ทองที่ใช้วาดลวดลายบนเครื่องกระเบื้องเหล่านี้จะหลุดหรือจางไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะหากผ่านการใช้งานเป็นประจำ แต่สีทองบนแจกัน 2 ใบนี้ยังอยู่ดีแทบทั้งหมด ซึ่งบอกเป็นนัยว่าเจ้าของน่าจะมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย และแทบจะไม่เคยใช้มันเลย”
พลพัฒน์ยังกล่าวอีกว่ามีคนจำนวนมากขึ้นที่สนใจจะสะสมของโบราณเหล่านี้ เพราะหลายคนมองว่าเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง “โซเชียลมีเดียมีบทบาทใหญ่ในการขยายตลาด เพราะคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น” เขากล่าว
แต่พิมพ์ประไพมีคำเตือนสำหรับผู้ที่อยากเป็นนักสะสม “สำหรับใครที่อยากสะสมเครื่องเคลือบจีน การไม่เริ่มสะสมแต่แรกอาจจะดีที่สุด ทุกวันนี้ ราว 60% ที่ซื้อขายกันในตลาดนั้นเป็นของปลอม ซึ่งพวกนี้ส่วนใหญ่ก็มาจากจีนทั้งนั้น เพราะตอนนี้พ่อค้ารู้แล้วว่าขายได้ราคาและคนซื้อส่วนใหญ่ก็ไม่รู้วิธีแยกระหว่างของแท้กับปลอม ถ้าคุณอยากสะสมเครื่องเคลือบจีน คุณต้องใช้เวลาหลายปีค้นคว้าและศึกษาให้ดี หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรจ้างผู้เชี่ยวชาญมาประเมินราคาให้” เธอกล่าว
ในบางครั้ง แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็พลาดพลั้งได้เหมือนกัน พิมพ์ประไพยอมรับว่าเธอเองก็มีของปลอมอยู่ในคอลเลกชันและยินดีที่จะชี้ให้ผู้เยี่ยมชมดู สำหรับเธอ การซื้อของปลอมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องกระเบื้องจีน นักสะสมทุกคนต้องเคยโดนหลอกขายของปลอมมาบ้าง และเพื่อจะให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวน้อยที่สุดนั้นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งนักสะสมรุ่นใหม่น้อยรายนักจะมี
แม้แต่นักสะสมเครื่องกระเบื้องชื่อดังที่สุดของไทยอย่างสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ก็ยังมีของปลอมปะปนอยู่ในตู้โชว์ พิมพ์ประไพเขียนหนังสือเกี่ยวกับคอลเลกชันของเขาร่วมกับสามีของเธอในชื่อ Bencharong & Chinaware in the Court of Siam ซึ่งพวกเขาใช้เวลาเขียนและถ่ายภาพอยู่หลายปี “จากที่ได้สัมภาษณ์ท่าน เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะไม่มีของปลอมเลย นักสะสมทุกคนจะต้องมีของปลอมอย่างน้อย 10 ถึง 15% ในคอลเลกชัน” เธอกล่าว
สำหรับพิมพ์ประไพ การซื้อของปลอมเป็นครั้งคราวไม่ส่งผลเสียกับเธอเท่ากับนักสะสมคนอื่นๆ เธอไม่เคยซื้อเครื่องกระเบื้องเพื่อเก็งกำไร สำหรับเธอ เครื่องเคลือบจีนโบราณเป็นแว่นที่ใช้มองผ่านไปยังประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของเอเชีย เธอรีบกล่าวว่าความนิยมที่สูงขึ้นของเครื่องกระเบื้องญี่ปุ่นเป็นผลของการเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์ชิง และพูดคุยอย่างออกรสถึงลวดลายดัตช์ที่พบบนภาชนะส่งออกของจีนในยุคแรกๆ ว่าเป็นสัญญาณของการเริ่มล่าอาณานิคมยุโรปในเอเชีย เครื่องกระเบื้องทุกชิ้นในคอลเลกชันบอกเล่าถึงเรื่องราวและเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ โดยเครื่องกระเบื้องชิ้นโปรดของเธอบางชิ้นเป็นเศษชามและจานจากเรืออัปปางในอยุธยา ซึ่งไม่มีวันที่นักสะสมคนอื่นจะสนใจ เพราะสำหรับเธอ คุณค่าที่แท้จริงแฝงอยู่ในเรื่องราวเท่านั้น
พิมพ์ประไพเคยเขียนไว้ในหนังสือของเธอชื่อ A History of the Thai-Chinese ว่าหนังสือเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์ไทย-จีนทั้งหมดจะยังคงอยู่ตลอดไป” กระนั้น ไม่มีหนังสือเล่มใดที่จะบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้ครบถ้วน เพราะเรื่องราวไม่น้อยได้รับการบันทึกไว้ในที่ๆ กระทั่งผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับหนังสือประวัติศาสตร์ทุกวันก็อาจตกสังเกต
โดยแฝงอยู่ภายใต้เงาเคลือบของเครื่องลายครามนั่นเอง ■