ตั้งเป้าขยายร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นอีกเท่าตัว
‘สนธิรัตน์’ ร่วมคณะรองนายกฯ ประชุม HLJC ที่ญี่ปุ่น เผยไทยสนใจเข้าร่วมสมาชิก CPTPP พร้อมหารือผู้ประกอบการญี่ปุ่น ผลักดันให้เปิดตลาดทั้งในกรอบ JTEPA และ RCEP เพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอาหารไทยไปญี่ปุ่นให้ผู้ประกอบการ SME มากขึ้น
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (HLJC) ระหว่างรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และนายโยชิฮิเดะ สึกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ไทยได้แจ้งญี่ปุ่นถึงความสนใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญภายในปีนี้ ซึ่งญี่ปุ่นยินดีสนับสนุนไทยทั้งสองเรื่องนี้อย่างเต็มที่
นายสนธิรัตน์ กล่าวเสริมว่า ภายหลังการประชุม HLJC ตนได้นำคณะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์พบหารือกับบริษัทญี่ปุ่น เช่น บริษัท Spice Road ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในญี่ปุ่นถึง 24 สาขา โดย 1 ใน 4 ได้รับตรา Thai Select ซึ่งเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพและมาตรฐานอาหารไทยจากกระทรวงพาณิชย์ และบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายสาขาไปยังเมืองอื่นๆ นอกจากโตเกียว
แต่ปัจจุบันประสบปัญหา ญี่ปุ่นยังมีการกำหนดโควตาการนำเข้าข้าวหอมมะลิ และมีภาษีนำเข้าสูงในสินค้าเกษตรและวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร อีกทั้งมีข้อกำหนดเงื่อนไขสูงในการให้วีซ่าแก่พ่อครัวแม่ครัว ต้องมีประสบการณ์การทำงานและมาตรฐานสูง ซึ่งทำให้จำนวนพ่อครัวแม่ครัวไทยไม่เพียงพอ
โดยได้แจ้งบริษัทฯ แล้วว่า ไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาผลักดันให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดสินค้าเกษตรและบริการที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร ทั้งในกรอบการเจรจาเปิดเสรีเพิ่มเติมทวิภาคีกับญี่ปุ่น (JTEPA) และในกรอบ RCEP
รวมทั้งจะส่งเสริมให้มีสถาบันผลิตพ่อครัวแม่ครัวอาหารไทยที่ได้มาตรฐานให้เพียงพอกับความต้องการของร้านอาหารไทยทั่วโลก และจะประชาสัมพันธ์ให้ตรา Thai Select เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคต่างชาติ
ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะช่วยเพิ่มจำนวนธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศได้อีกเป็นเท่าตัว และช่วยขยายโอกาสการส่งออกของสินค้ากลุ่มวัตถุดิบอาหาร เช่น เครื่องแกง เครื่องปรุง และผักผลไม้ไทยในญี่ปุ่น และต่างประเทศตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับบริษัท Jupiter Shop Channel ซึ่งเป็น TV Shopping ใหญ่สุดในญี่ปุ่น และที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้นำสินค้าไทย อาทิ หมอนผ้าไหม น้ำหอมอโรม่า เครื่องประดับ และผลไม้ไทย มาจำหน่ายในรายการ
โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สามารถทำยอดขายมะม่วงน้ำดอกไม้ได้ 30 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง ตนจึงเห็นว่า TV Shopping ในญี่ปุ่นเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออก ให้กับผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร
เนื่องจากบริษัทฯ แจ้งว่า สินค้าเกษตรไทย เช่น มะม่วง มังคุด ทุเรียน สับปะรด ตลอดจนผลิตภัณฑ์ OTOP สินค้าไลฟ์สไตล์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน บริษัท Jupiter ก็มีการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยเพื่อเปิดรายการ TV Shopping ในไทย หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย
พร้อมกันนี้ นายสนธิรัตน์ยังได้แนะนำบริษัทฯ ให้ใช้ประโยชน์จากความตกลง JTEPA ซึ่งญี่ปุ่นได้ลดภาษีสินค้านำเข้าจากไทยแล้วกว่าร้อยละ 88 ของจำนวนสินค้ากว่า 9,000 รายการ