พรรคก้าวไกลต้องทำอย่างไรกับคะแนนนิยมที่หยุดนิ่ง
ประโยคดังกล่าวเป็นข้อความพาดหัวในโพสต์หนึ่งของนายปิยบุตร แสงกนกกุลบน Facebook ส่วนตัวที่โพสต์ในเชิงเสนอแนะและวิจารณ์ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา การเขียนแสดงความคิดเห็นเชิงวิจารณ์อย่างเปิดเผยของปิยบุตรในฐานะอดีตแกนนำและที่ปรึกษาพรรคครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จนถึงขั้นต้องโพสต์ตอบโต้
ถึงแม้ว่าทั้งสองคนจะปรับความเข้าใจผ่านสื่อแล้วในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่กระนั้นความขัดแย้งครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นว่า ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ พิธาและพรรคก้าวไกลในการนำของเขา จงใจรักษาระยะห่างกับนายปิยบุตรรวมไปถึงอดีตพรรคอนาคตใหม่
เป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคก้าวไกลถือกำเนิดมาจากพรรคอนาคตใหม่ โดยมีนายปิยบุตร เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค โดยมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 รวมทั้งริเริ่มสร้างภาพลักษณ์การเป็น “นักปฏิรูป” อย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นไม้ตายสำคัญของพรรคก้าวไกลที่สามารถดึงดูดความนิยมจากประชาชนทั่วไป โดยนายปิยบุตรเล็งเห็นว่า ในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกันในสมัยถัดไป พรรคก้าวไกลจะต้องประกาศจุดยืนอย่างแน่วแน่ในการเป็นตัวแทนของ “พลังใหม่” ในสังคมไทย และสร้างความแตกต่างจากพรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้
แต่ด้วยเหตุผลด้านความละเอียดอ่อนของการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้พรรคการเมืองอื่นๆ ต่างสงวนท่าทีในการจับมือกับพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล เพียงเพราะจุดยืนดังกล่าวแฝงไปด้วยนัยยะเชิง “ต่อต้านสถาบัน” ซึ่งนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายพิธา ผู้มุ่งมั่นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยถัดไป รวมไปถึงพรรคก้าวไกลในการนำของเขาแสดงท่าทีห่างเหินและปรับลดภาพลักษณ์เดิมของอดีตพรรคอนาคตใหม่
ในความเป็นจริงแล้ว พรรคก้าวไกลยอมรับว่าข้อเรียกร้อง “การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112” ไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายหลักในการดำเนินกิจกรรมของพรรค ในการหาเสียงของพรรคในแต่ละพื้นที่ นายพิธาจะเน้นประชาสัมพันธ์นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคเป็นหลัก และหลีกเลี่ยงการกล่าวเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ทั้งนี้เลขาธิการพรรคก้าวไกลได้ประกาศชัดเจนมาโดยตลอดว่า
“การปราศรัยเพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 อาจส่งผลให้พรรคสูญเสียคะแนนในการเลือกตั้ง”
สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อครั้งการปราศรัยหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่จังหวัดชลบุรีในวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา สองตัวแทนจาก “กลุ่มทะลุแก๊ส” มวลชนกลุ่มต่อต้านสถาบันที่เคยประท้วงอดอาหารก่อนหน้านี้ ได้ปรากฏตัวบนเวทีปราศรัยของนายพิธา โดยนำแผ่นป้ายกระดาษที่มี “คำถามแบบมีตัวเลือก (โพลสำรวจ)” ตั้งคำถามกับนายพิธาและพรรคก้าวไกลว่า จะสนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 หรือไม่
ซึ่งนายพิธาแสดงท่าทีอย่างระมัดระวัง และนำกระดาษ post-it แปะในฝั่งคำตอบ “ควรยกเลิก” และกล่าวเสริมว่า
“การเสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้มากกว่า หากดำเนินการผ่านการเสนอญัตติแก้ไขในสภา”
จากนั้นเขาได้เชิญตัวแทนทั้งสองลงจากเวที และดำเนินการปราศรัยต่อไปโดยมิได้กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 แต่อย่างใด