สมาชิกรัฐสภาอียูหารือ ‘พาณิชย์’ ติดตามการค้าการลงทุนไทย
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ได้พบหารือกับนายฟรังค์ พรุสท์ สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศของรัฐสภายุโรป (the European Parliament’s Committee on International Trade - INTA) ซึ่งรับผิดชอบการจัดทำรายงานความคืบหน้าของประเทศไทยด้านต่างๆ ในโอกาสที่เดินทางมาไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการค้าและการลงทุน
รวมทั้งการพิจารณาความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้นการจัดทำความตกลงการค้าเสรี ไทย – สหภาพยุโรป ภายหลังการออกมติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ที่ให้ยกระดับความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับอย่างค่อยเป็นค่อยไป
หลังจากที่สนธิสัญญาลิสบอนของสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้ในปี 2552 ได้เพิ่มอำนาจของรัฐสภายุโรปในการมีส่วนร่วมตัดสินใจด้านนโยบายต่างๆ ของสหภาพยุโรป ร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปมากขึ้น รวมถึงในด้านนโยบายการค้าที่สำคัญ เช่น สิทธิพิเศษทางการค้าต้องเสนอผ่านรัฐสภายุโรปก่อนการแก้ไขหรือรับรองโดยคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป
ความตกลงทางการค้าจะต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภายุโรปในการให้สัตยาบัน และคณะกรรมาธิการยุโรปต้องเสนอเอกสารและรายงานเกี่ยวกับสถานะของความตกลงทางการค้าต่อรัฐสภายุโรปอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งที่ผ่านมารัฐสภายุโรปมีผู้แทนเดินทางมาพบหารือกับหน่วยงานของไทยเป็นระยะๆ
นายสกนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การหารือครั้งนี้ ได้ยืนยันกับนายพรุสท์ว่าไทยมีการดำเนินการตามโรดแมป เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งโดยปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมสู่การเลือกตั้งในปีหน้า
รวมทั้งได้ย้ำถึงนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมและยึดมั่นในการค้าเสรี รวมถึงการค้าการลงทุนที่มุ่งสู่การมีโครงสร้างเศรษฐกิจเชิงมูลค่า ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งไทยได้จัดตั้งโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้ออกมาเป็นรูปธรรม
รวมทั้งที่ผ่านมามีการปรับแก้กฎหมายภายในประเทศต่างๆ ที่เพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น การที่สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญด้านการค้าการลงทุนกับไทยและมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยี ก็น่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว
สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย ในปี 2560 มีมูลค่าการค้าระหว่างสองฝ่าย 44,302.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4
โดยไทยส่งออกไป EU คิดเป็นมูลค่า 23,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5
สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป
และนำเข้าจาก EU 20,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9
สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
นอกจากนี้ EU ยังเป็นนักลงทุนที่สำคัญของไทย ในปี 2560 การลงทุนโดยตรงของ EU ในไทย มีมูลค่า 6,575.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 7.66
ขณะเดียวกัน ก็มีการลงทุนจากไทยใน EU มากขึ้น โดยมีมูลค่า 11,622.98 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 47.32