เจรจา JSC ไทย-บาห์เรน ส่งออกสินค้าเกษตร และฮาลาลสู่ตะวันออกกลาง
ขานรับนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกดันไทยเป็นมหานครผลไม้
กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการร่วม (Joint Steering Committee: JSC) ระหว่างไทยกับบาห์เรน ด้านความมั่นคงด้านอาหาร การค้า และการลงทุนในผลิตภัณฑ์และโภคภัณฑ์การเกษตร โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ดันบาห์เรนเป็นประตูกระจายสินค้าส่งออกสินค้าเกษตร สับปะรด. ลำไย. ผลไม้ ข้าว. และฮาลาลไทยสู่ตะวันออกกลาง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าภายหลังการเป็นประธานร่วมกับนายซาเยด บิน ราชิด อัล ซายานี รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและการท่องเที่ยวของบาห์เรนในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการร่วม (Joint Steeing Committee: JSC) ระหว่างไทยกับบาห์เรน ด้านความมั่งคงทางอาหาร การค้าและการลงทุนในผลิตภัณฑ์และโภคภัณฑ์การเกษตร โดยเฉพาะอาหารฮาลาล
ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญในเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ อันเป็นประเด็นท้าทายระดับโลก
ทั้งนี้ไทยแสดงถึงความสามารถและความพร้อมในการเป็นแหล่งจัดหาผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารฮาลาลให้แก่บาห์เรนตามนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ของรัฐบาล โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและบาห์เรนมีความต้องการนำเข้าจากไทย ได้แก่ ข้าว
ซึ่งปัจจุบันบาห์เรนนำเข้าจากไทยประมาณ 3,400 ตัน เกือบทั้งหมดเป็นข้าวหอมมะลิ จึงต้องการผลักดันข้าวชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม
โดยในการประชุมครั้งนี้ได้นำเสนอข้าวเจ๊กเชยเสาให้ ข้าวพิษณุโลก 80 ข้าวพันธุ์ กข 29 หรือ ชัยนาท 80 ซึ่งเป็นข้าวพื้นแข็งคล้ายพันธุ์บาสมาติที่ชาวบาห์เรนนิยมรับประทาน พร้อมทั้งได้นำข้าวพันธุ์ดังกล่าวทำข้าวหมกไก่ (Biryani) เสิร์ฟให้แก่คณะบาห์เรนรับประทานเพื่อส่งเสริมความนิยมข้าวและไก่ไทย
นอกจากนั้น ยังมีสินค้าน้ำตาล น้ำมันพืช อาหารกระป๋อง ซึ่งเป็นสินค้าเป้าหมายตามเจตนารมณ์ด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงผักและผลไม้สด กระป๋องและแปรรูป ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ถั่วฟักยาว แอสพารากัส สับปะรด ลำไย ส้มโอ มะม่วง มะขามหวาน มังคุด และทุเรียน
“นอกจากนี้ ไทยได้เสนอให้บาห์เรนพิจารณาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement: MRA) ด้านมาตรฐานสินค้าฮาลาล ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันในอุตสาหกรรมฮาลาล
และยังได้ใช้โอกาสนี้หารือประเด็นเศรษฐกิจอื่นๆ กับบาห์เรน อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้แทนการค้าและคณะนักธุรกิจ การจัดตั้งศูนย์การค้าปลีกสินค้าและบริการของไทยในบาห์เรน การส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมยางพารา การเชิญชวนบาห์เรนเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึง Rubber City” นายสนธิรัตน์กล่าว
นายสนธิรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากนี้ได้มีการจัดงานสัมมนา “โอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยในบาห์เรน” เพื่อเผยแพร่ศักยภาพของบาห์เรนให้เป็นที่รู้จักของนักธุรกิจไทยมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจัดแสดงสินค้าฮาลาลของไทยที่มีศักยภาพในบาห์เรนและตะวันออกกลาง ได้แก่ ข้าวพันธุ์ต่างๆ สับปะรด ผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น หมอนและที่นอนยางพารา พรมละหมาด เป็นต้น และน้ำหอมไม้กฤษณา
เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าฮาลาลของไทยในตลาดบาห์เรน ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะผู้บริโภคในประเทศแต่รวมถึงนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาในบาห์เรนปีละกว่า 11 ล้านคนต่อปี
เนื่องจากบาห์เรนเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 54 ล้านคน และยังเป็นประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยเป็นอย่างมาก
ในปี 2560 บาห์เรนเป็นคู่ค้าลำดับที่ 65 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 9 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยการค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 290.12 ล้านเหรียญสหรัฐ
ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 21.70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปบาห์เรนเป็นมูลค่า 155.91 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากบาห์เรนเป็นมูลค่า 134.21 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 105.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 8.81 เมื่อพิจารณาศักยภาพการค้าของสองฝ่ายแล้ว มูลค่าการค้าระหว่างกันยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและอบแห้ง เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก
สินค้านำเข้าสำคัญจากบาห์เรน ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ