TTM+ ปีที่ 16 เปิดเวทีการค้า B2B โชว์ศักยภาพการท่องเที่ยวไทยและลุ่มน้ำโขง ภายใต้ธีม “Delivering Unique Experiences”
งาน Thailand Travel Mart Plus Amazing Gateway to the Greater Mekong Subregion หรือ TTM+ เป็นงานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยวลักษณะ Business to Business (B2B) ที่จัดขึ้นประมาณต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี เริ่มจัดครั้งแรกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2544
โดยความร่วมมือระหว่าง ททท. สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TCT) สมาคมโรงแรมไทย (THA) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติไทย (TICA) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และธุรกิจท่องเที่ยวภาคเอกชน
งาน TTM+ ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16 เป็นเวทีให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทย และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้นำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท บริษัทนำเที่ยวและตัวแทนจำหน่ายด้านการท่องเที่ยว สมาคมด้านการท่องเที่ยว สวนสนุก สนามกอล์ฟ และธุรกิจบันเทิง ฯลฯ ให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจากต่างประเทศทั่วโลกได้ซื้อขาย โดยเป็นการจัดงานในรูปแบบของการนำเสนอสินค้าและบริการ
ทางการท่องเที่ยวที่มีอยู่และสินค้าบริการใหม่ๆ รับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นด้านธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยว่าเป็นจุดเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และเวียดนาม
บ่ายวันที่ 14 มิถุนายน 2560 : พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Travel Mart Plus (TTM+) 2017 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมและการแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 14-16 มิถุนายน 2560
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการขายแหล่งท่องเที่ยวและบริการทางการท่องเที่ยวของไทยในตลาดต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวจากต่างประเทศได้รับข้อมูลสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีโอกาสสำรวจแหล่งท่องเที่ยว ศึกษากิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายของไทย สนับสนุนบทบาทของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
และเป็นเวทีหลักสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโดยเฉพาะในแบบ Business to Business หรือ B2B ได้เจรจาทางธุรกิจโดยอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันจากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเข้าร่วมนำเสนอสินค้าบริการ ภายใต้ธีม “Delivering Unique Experiences” ซึ่งเป็นแนวคิดการจัดงานในปีนี้
โดยมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
ในปีนี้ มีจำนวนการตอบรับของผู้ขายในประเทศ และผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้าน ในแถบลุ่มน้ำโขง รวมทั้งสิ้น 429 บูธ จาก 362 หน่วยงาน
แบ่งเป็นผู้ขายที่เคยร่วมงานเป็นครั้งแรก 106 ราย และเคยร่วมงานแล้ว 256 ราย ในจำนวนนี้เป็นประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 13 หน่วยงาน ส่วนผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้าร่วมงานจำนวน 361 ราย (56 ประเทศ)
และเป็นผู้ซื้อรายใหม่จำนวนมาก อาทิ บัลแกเรีย โคโซโว โมรอคโค โปแลนด์ สโลวาเกีย และศรีลังกา ขณะที่ผู้ซื้อที่เป็น 5 อันดับแรก จากตลาดหลักเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ได้แก่ จีน สหราชอาณาจักร อินเดีย ออสเตรเลีย และอิตาลี
กิจกรรมภายในงาน อาทิ
- การเจรจาธุรกิจที่มีนัดหมายล่วงหน้า (pre-appointment) ประมาณ 14,000 นัดหมาย ระหว่างผู้ขาย (Seller) ที่เป็นผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากกลุ่มประเทศ GMS (Greater Mekong Subregion) กับผู้ซื้อ (Buyer) ที่เป็นบริษัทนำเที่ยวจากทั่วโลก
- การจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้ด้านการท่องเที่ยว (Tourism Seminar & Workshop) ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ที่จัดเป็นครั้งแรกภายในงาน TTM+ เพื่อเป็นการส่งต่อและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวไปสู่บุคคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแขนงต่างๆ ทั้งผู้ประกอบการที่กำลังประกอบกิจกรรมด้านท่องเที่ยว และกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในภาคเหนือที่มีการเรียนการสอนด้านการท่องเที่ยว
- การจัดแสดงสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว (Local Tourism product showcase) เป็นการสนองนโยบายประชารัฐของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนที่ให้การท่องเที่ยวเป็นช่องทางเปิดโอกาสด้านการทำธุรกิจไปสู่ภาคธุรกิจชุมชน โดยการคัดเลือกสินค้าและบริการที่เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในพื้นที่ภาคเหนือ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้า OTOP Premium นำเสนอกลิ่นอายล้านนา และสินค้านวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นจาก ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) มาจัดแสดงและนำเสนอขายแบบ B2B แก่ผู้เข้าร่วมงานที่ประกอบธุรกิจด้านท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม/รีสอร์ท บริษัทนำเที่ยว สถานประกอบการ Wellness & Spa โดยแบ่งพื้นที่เสนอขายสินค้าจำนวน 7 โซน
ซึ่งนำจุดขายของศิลปวัฒนธรรมล้านนามานำเสนอ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ รวมถึงของตกแต่งบ้านและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น (OTOP) ที่มีศักยภาพ
รวมถึงการจัดรายการนำเที่ยว Pre-Post tour ให้กับ Buyer และสื่อมวลชนจากต่างประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าทางการท่องเที่ยวในโครงการใหม่ๆ ที่สนใจ อาทิ สินค้าท่องเที่ยวในโครงการ The LINK สินค้าทางการท่องเที่ยวในโครงการ 12 Hidden Gems เป็นต้น
ททท. คาดว่า การจัดงานครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยได้มีการเจรจาและนำเสนอขายสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นการเพิ่มประสบการณ์และเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจในระดับสากลให้แก่ภาคเอกชนไทย
ผู้ประกอบการนำเที่ยวต่างประเทศได้มีโอกาสสำรวจ ศึกษา และรับข้อมูลสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวทั้งเก่าและใหม่ รวมถึงกิจกรรมที่หลากหลายของไทยเพื่อนำไปบรรจุในโปรแกรมเสนอขาย
และยังช่วยประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและความหลากหลาย ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
..................................
บ่ายวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ณ ห้องลีลาวดี ศูนย์การประชุมและการแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ :
นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมด้วย Mr. Seila Hul, Deputy Director General, Ministry of Tourism จากราชอาณาจักรกัมพูชา Mr. Vongdeuan Keosulivong, Acting Director of Division Tourism Marketing Department Ministry of Information, Culture and Tourism จาก สปป.ลาว Mr. Nyi Nyi Oo, Deputy Director Directorate of Hotels and Tourism Ministry of Hotels and Tourism จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ Mr.Vu Nam, Deputy Director General Tourism Marketing Department, Vietnam National Administration of Tourism จากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ร่วมในงานเสวนาในหัวข้อหลัก “CLMVT: Moving towards Shared Prosperity” โดยมีสื่อมวลชนจากทั่วโลกและจากประเทศไทยเข้าร่วมกว่า 100 ราย เพื่อนำเสนอความคืบหน้าด้านตลาดการท่องเที่ยวของไทยและกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
และสร้างการรับรู้ผ่านสื่อมวลชนไปยังกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางมายังประเทศไทยในฐานะผู้ซื้อ (Buyers) ภายในงาน Thailand Travel Mart Plus the Greater Mekong Subregion 2017 (TTM+ 2017)
ทั้งนี้ ภายในงานเสวนา แบ่งหัวข้อย่อย ได้แก่
1. Living Heritage – โดยผู้แทนจากราชอาณาจักรกัมพูชา
2. Atelier of Creativity: Local Experience – โดยผู้แทนจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
3. Lively Metropolis and Foodie Experience – โดยผู้แทนจากประเทศไทย
4. Self-drive and Overland Experience – โดยผู้แทนจาก สปป.ลาว
5. Local Luxury by Cruise – โดยผู้แทนจาก สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
นายฉัททันต์ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวถึงหัวข้อ Lively Metropolis and Foodie Experience ว่า
“ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมเดินทางเพื่อท่องเที่ยวพร้อม ๆ กับการรับประทานอาหารในร้านอาหารถิ่น รวมถึงร้านอาหารที่เป็นที่นิยมในพื้นที่นั้น ๆ โดย ททท. เห็นช่องทางในการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวผ่าน “Gastronomy tourism” หรือ “การท่องเที่ยวเชิงอาหาร”
เนื่องจากอาหาร สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในการเดินทางท่องเที่ยวได้หลากหลาย เราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ผู้คนและชุมชน ผ่านการเรียนรู้ถึงเรื่องราวและความเป็นมาที่น่าสนใจสอดแทรกอยู่ในอาหารถิ่นทุกประเภท “
ทั้งนี้ ททท. ได้เปิดตัวแคมเปญ “Amazing Thai Taste” ซึ่งเน้นสร้างการรับรู้ว่าประเทศไทยมีจุดเด่นด้านอาหาร ที่สามารถดึงดูดนักชิมอาหารจากทั่วโลกให้เดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่ม Food tourism เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอย่างมหาศาล
ทั้งมาเพื่อท่องเที่ยวและชิมอาหาร รวมถึงเดินทางมาเพื่อสัมผัสประสบการณ์การทำอาหารไทย รวมถึงเดินทางไปยังแหล่งผลิตวัตถุดิบสำหรับอาหารประเภทต่างๆ ที่ตนชื่นชอบอีกด้วย
กอปรกับเมื่อเร็วๆนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Asia’s 50 Best Restaurants 2017 หรือ 50 ร้านอาหารยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย จัดอันดับโดยสมาคม Asia s 50 Best Restaurants Academy ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำที่มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมร้านอาหารทั่วภูมิภาคเอเชียกว่า 300 ท่าน ประกอบด้วยนักเขียน นักวิจารณ์อาหาร เชฟ เจ้าของร้านอาหาร และผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักชิม เป็นต้น
ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าผลจากการจัดอันดับดังกล่าว ได้ปรากฏรายชื่อร้านอาหารจากประเทศไทยรวม จำนวน 9 ร้าน ได้แก่ ร้านกากั้น Gaggan (อันดับ 1) ร้านน้ำ Nahm (อันดับ 5) ร้านซูห์ริ่ง Sühring (อันดับ 13) ร้านโบ.ลาน Bo.Lan (อันดับ 19) ร้านอิษยา สยามมิส คลับ Issaya Siamese Club (อันดับ 21) เดอะ ไดน์นิ่งรูม แอท เดอะ เฮ้าส์ ออน สาทร The Dining Room at The House on Sathorn (อันดับ 36) เลอ ดู Le Du (อันดับ 37) และ ลาเตอร์ลิเย่ร์ เดอ โจแอล โรบูชง แบงค็อก L’Atelier de Joël Robuchon Bangkok (อันดับที่ 40)
ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร ในฐานะเป็นเมืองแห่งอาหารการกิน ดึงดูดให้บรรดานักท่องเที่ยว นักชิม และเชฟชื่อดังระดับโลกมากมาย เดินทางมาสัมผัสความอร่อยเป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี
ในโอกาสนี้ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organisation หรือ UNESCO ยังได้ประกาศให้จังหวัดภูเก็ตเป็น “City of Gastronomy” หรือ “เมืองของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร” ด้วยเหตุผลที่จังหวัดภูเก็ตเป็นหมู่เกาะที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ มีวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร นอกเหนือจากหาดทรายชายทะเล กิจกรรมด้านกีฬาทางน้ำ รวมถึงโรงแรมที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนอย่างไม่ขาดสาย
สำหรับกิจกรรมที่กำลังจะจัดขึ้นเร็วๆนี้ ได้แก่ การเป็นผู้สนับสนุนการจัด “Michelin Guide Bangkok 2017” เป็นครั้งแรก ซึ่งจะเปิดตัวในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้
และประเทศไทยยังได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Forum on Gastronomy Tourism 2018 ซี่ง ททท. คาดว่าจะกระตุ้นการรับรู้ไปสู่สายตานักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของ Gastronomy Tourism destination ระดับโลก