“ครูกัลยา” นำทัพผู้บริหารการศึกษา 77 จังหวัด ขับเคลื่อนแผนบูรณาการ
การศึกษาจังหวัดทั่วประเทศ นำร่อง 349 โรงเรียน เห็นผลภายในปี 64
15 มีนาคม 2564, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานประชุมมอบนโยบายแผนบูรณาการการศึกษาจังหวัดทั่วประเทศ ให้แก่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ศึกษาธิการภาค/จังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทุกจังหวัด เพื่อได้รับทราบนโยบาย และเสนอแนะแนวทางที่ควรดำเนินการตามนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
โดยมี นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการจังหวัด และ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต1 ทั้ง 77 จังหวัด ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
คุณหญิงกัลยา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการจัดการศึกษาจังหวัดอย่างมาก ในฐานะรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเดินหน้า ขับเคลื่อน สานต่อนโยบายบูรณาการด้านการศึกษาให้มีความต่อเนื่อง โดยเร่งรัดทำให้เห็นเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์กับผู้เรียนสูงสุด
โดยในขณะนี้ สพฐ. ได้ทำการคัดเลือกโรงเรียนจำนวนทั้งสิ้น 349 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนคุณภาพของชุมชนจำนวน 183 โรงเรียน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองจำนวน 77 โรงเรียน และโรงเรียน Stand Alone จำนวน 89 โรงเรียน เพื่อเสนอของบประมาณในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาในปีงบประมาณ 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยในปี 2564 ได้สั่งการให้สพฐ.ทำการคัดเลือกโรงเรียนนำร่องที่สามารถเป็นต้นแบบของโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียน Stand Alone แบ่งเป็น 5 ภูมิภาค จำนวนทั้งสิ้น 15 โรงเรียน
ให้แต่ละโรงเรียนเขียนโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนั้น เพื่อเสนอของบประมาณปี 2564 ภายใต้กรอบวงเงินโรงเรียนละไม่เกิน 2,000,000 บาท
ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 334 โรงเรียนประกอบด้วย โรงเรียนคุณภาพของชุมชนจำนวน 178 โรงเรียน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองจำนวน 72 โรงเรียน และโรงเรียน Stand Alone จำนวน 84 โรงเรียน จะได้รับงบประมาณสนับสนุนโรงเรียนละไม่เกิน 400,000 บาท
ซึ่งการยกระดับคุณภาพการศึกษานั้น จะต้องให้ความสำคัญกับพัฒนาทั้งรูปแบบการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาคุณภาพครูผู้สอน การจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย นอกเหนือจากการพัฒนาเชิงกายภาพเป็นหลัก ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในปีนี้
นอกจากนี้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวว่า พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน สานต่อและเร่งรัดในการดำเนินนโยบายตามภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้เกิดเป็นรูปธรรมทั้ง 10 ด้าน ตามที่ได้เคยแถลงไว้ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติให้รับหน้าที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อช่วยวางรากฐานการศึกษาให้เด็กไทย โดยใช้ Coding วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวขับเคลื่อน