คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน
ติดตามผลคืบหน้า AEC
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration: HLTF-EI) ครั้งที่ 34 เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
โดยการประชุมครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินมาตรการสำคัญที่อาเซียนจะต้องดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้เท่านั้น แต่ยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งภายในอาเซียน
เช่น หลักการสำคัญของแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน (ASEAN Good Regulatory Practice Core Principles) ซึ่งจะช่วยให้การออกกฎหมาย/กฎระเบียบ ของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทต่างๆ เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
โดยที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการดังกล่าว ก่อนที่จะเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนรับรองและคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้การรับรอง ส่วนการจัดทำแนวทางการดำเนินการกับมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) จะช่วยเพิ่มความโปร่งใส และทำให้ผู้ประกอบการในอาเซียนมีความเชื่อมั่นว่า การออกมาตรการที่มิใช่ภาษีดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าสินค้าระหว่างกันในภูมิภาค รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของอาเซียน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน และประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ การประชุม HLTF-EI ของประเทศสมาชิกอาเซียนจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการหารือในระดับนโยบายและให้แนวทางการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับประเด็นใหม่ๆ หรือประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ที่ประชุมยังได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมของอาเซียน ในการรับมือกับการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4th Industrial Revolution: 4IR)
ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องร่วมมือกันดำเนินการทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง รวมทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน
ซึ่งสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ถือเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือการเข้าสู่ยุค 4IR โดยมีคะแนนขีดความสามารถทางการแข่งขันของ World Economic Forum (WEF) ปี 2017-2018 อยู่ในลำดับที่ 1 2 และ 3 ตามลำดับ
นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับด้านความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาว่า อาเซียนได้รับข้อเสนอประเด็นใหม่ๆ จากประเทศที่แสดงความสนใจจัดทำความตกลงทางการค้า (FTA) กับอาเซียนในอนาคต เช่น สหภาพยุโรป และแคนาดา
รวมทั้งข้อเสนอในการยกระดับความร่วมมือทางการค้าจากประเทศคู่เจรจาในปัจจุบัน เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อาทิ ประเด็นด้านพลังงานและวัตถุดิบ ทรัพย์สินทางปัญญา การค้ากับการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อม การค้าดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งสมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดจุดยืนของอาเซียนในการเจรจาร่วมกัน เพื่อประกอบการจัดทำกลยุทธ์การเจรจาของอาเซียนกับประเทศต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิกโดยรวม และคงไว้ซึ่งบทบาทความเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคของอาเซียน