‘พาณิชย์’ พอใจ เอฟทีเอดันยอดส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนพุ่งต่อเนื่อง
แนะผู้ประกอบการจับตาตลาดอาเซียนและอินเดีย ยอดส่งออกเติบโตสูงลิ่ว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากจีน ผลจากเอฟทีเอดันมูลค่าการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง แนะผู้ประกอบการส่งออกไปตลาดดาวรุ่งมาแรงอย่างอาเซียนและอินเดีย ที่มีมูลค่าเติบโตสูงลิ่วเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนมีเอฟทีเอถึง 4,017 % และ 1,204 % ตามลำดับ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้นที่สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมาก โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเป็นอันดับที่ 2 ของโลก (รองจากจีน) คิดเป็นร้อยละ 13.8 ของมูลค่าส่งออกทั้งโลก
โดยที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 สภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่การส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่า 3,105.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี
ก่อนหน้า ร้อยละ 0.60
ตลาดส่งออกสำคัญและส่วนแบ่งตลาด ได้แก่ อาเซียน ร้อยละ 24.11 รองลงมาคือ สหภาพยุโรป ร้อยละ 21.35 ญี่ปุ่น ร้อยละ 7.86 สหรัฐฯ ร้อยละ 7.38 และอินเดีย ร้อยละ 7.06 เป็นต้น ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง
นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน โดยปัจจุบัน ประเทศคู่เอฟทีเอ 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนจากไทยแล้ว
เหลือเพียง 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย ที่ลดเลิกภาษีนำเข้าให้ไทยบางส่วน แต่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ เช่น เกาหลีใต้ เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือผนัง ร้อยละ 8 จีน เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ ร้อยละ 5 และอินเดีย เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ ร้อยละ 5 เป็นต้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ไทยมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนในปี 2535 จนถึงปี 2561 ยอดการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของไทยสู่ตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นถึง ร้อยละ 1,750 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังประเทศคู่ค้าที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยถึง 2,975.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 55.45 ของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของไทยทั้งหมด
หากแยกรายตลาดพบว่า ตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอมีผลใช้บังคับจนถึงปี 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น อาเซียน มูลค่า 1,350.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 4,017) ญี่ปุ่น มูลค่า 433.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 83) อินเดีย มูลค่า 339.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 1,204) ออสเตรเลีย มูลค่า 507.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 120) และเกาหลีใต้ มูลค่า 138.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 834) เป็นต้น
ซึ่งสอดคล้องกับสถิติปี 2561 ที่พบว่าผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนไปยังประเทศคู่เอฟทีเอสูงมากเป็นอันดับที่ 8 จากรายการสินค้าที่ใช้สิทธิทั้งหมด
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ตลาดอาเซียนและอินเดีย เป็นตลาดดาวรุ่งที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เพราะยอดการส่งออกมีอัตราการเติบโตสูงลิ่ว สอดคล้องกับสถานการณ์การเติบโตภาคอสังหาริมทรัพย์ในอาเซียนและอินเดียที่เติบโตขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศตามมาด้วย
ซึ่งกรมฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งในปัจจุบัน และที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) รวมถึงการเจรจาเอฟทีเอกับคู่ค้าในอนาคต เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนที่สำคัญของไทย
“เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่มีศักยภาพและแข็งแกร่งของไทย รวมถึงความได้เปรียบด้านภาษีภายใต้เอฟทีเอ จะช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของไทยทะยานแซงหน้าจีน ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้ไม่ยาก
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปรับอากาศให้ทันสมัยอยู่เสมอ คำนึงถึงความต้องการของตลาด รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน อาทิ การใช้เทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ (Inverter) รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการส่งออกด้วยความตกลงเอฟทีเอให้เต็มที่” นางอรมน กล่าว