‘กรมเจรจาฯ’ รับนโยบาย ‘จุรินทร์’ ลุยงานครึ่งหลังปี 62
เร่งเดินหน้าปิดดีลประเด็นการค้าสำคัญ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รับนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ‘จุรินทร์’ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ‘วีรศักดิ์’ ลุยงานครึ่งหลังปี 2562 เร่งขับเคลื่อนการเจรจาการค้าในประเด็นสำคัญให้เห็นผลโดยเร็ว ทั้งการสรุปการเจรจาความตกลง RCEP ให้ได้ในปีนี้ พร้อมเร่งเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน และไทย-ศรีลังกา ฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู หาข้อสรุปการเจรจาความตกลง CPTPP และเร่งลงพื้นที่ใช้ความตกลงทางการค้าดันสินค้าเกษตรและสินค้าท้องถิ่นออกสู่ตลาดโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากกรมฯ ได้รับนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) กรมฯ จึงกำหนดแผนงานสำหรับครึ่งปี 2562 โดยมีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ได้แก่
1. เร่งหาข้อสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ให้ได้ในปี 2562 ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย จะเป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ป ที่จะจัดขึ้นในระหว่าง 7-8 กันยายน 2562 ที่กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาให้สมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ สามารถหาข้อสรุปในประเด็นที่ยังมีความเห็นและท่าทีที่ต่างกัน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กลไกการระงับข้อพิพาท การลงทุน การเคลื่อนย้ายบุคคล เป็นต้น
2. สานต่อการเจรจาความตกลงเอฟทีเอที่ค้างอยู่ให้คืบหน้า ซึ่งไทยมีกำหนดประชุมกับปากีสถานรอบต่อไปในเดือนตุลาคมนี้ และหารือกับตุรกีในเดือนธันวาคม 2562 ส่วนศรีลังกาอยู่ระหว่างรอส่งสัญญาณความพร้อม หลังการปรับคณะเจรจาของศรีลังกา
3. เตรียมฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดยคาดว่าผลการศึกษาและการรวบรวมความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ของไทยจะเสร็จในปลายเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและคณะรัฐมนตรีพิจารณา
4. การหาข้อสรุปเรื่อง CPTPP เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้จ้างศึกษาประโยชน์และผลกระทบต่อไทยในการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รวมทั้งได้จัดหารือเพื่อระดมความเห็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ซึ่งกรมฯ จะนำสรุปผลการศึกษา และผลการระดมความเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป
5. การเจรจาเอฟทีเอกับสหราชอาณาจักร ภายหลังเบร็กซิท (Brexit) ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างหารือกับสหราชอาณาจักรเรื่องการจัดทำข้อมูลนโยบายการค้า และศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ที่จะทำเอฟทีเอระหว่างกัน
“กรมฯ เล็งเห็นว่าความคืบหน้าในเรื่องเหล่านี้ จะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเปิดตลาดและขยายส่วนแบ่งการค้าของไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญวิกฤติและความท้าทายจากการที่หลายประเทศมีการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน” นางอรมนกล่าว
นอกจากนี้ กรมยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร และผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเจรจาได้สูงสุด รวมถึงรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ กรมฯ จึงเดินหน้าจับมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ เป็นต้น
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความตกลงเอฟทีเอ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ผลกระทบ และการปรับตัวของไทยต่อไป โดยจะลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และเน้นสินค้าในพื้นที่ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรสำคัญของไทย เช่น ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้ โคนม โคเนื้อ และอาหารแปรรูปต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2561 การค้าไทยและกับประเทศคู่เจรจา FTA 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ มีมูลค่ากว่า 300 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 11 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 (หรือ 2 ใน 3) ของการค้าไทยกับโลก ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 2562 มีมูลค่าการค้ากับ 18 ประเทศเอฟทีเอ 202.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
โดยไทยส่งออก 88.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 87.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น
ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้า เช่น น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น