‘กรมเจรจาฯ’ จัดให้ความรู้เกษตรกรใช้ประโยชน์จาก FTA ประสบความสำเร็จ
โชว์ผลงานจับคู่ธุรกิจให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ทันที
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่และจัดสัมมนาให้ความรู้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ยางพารา กล้วยหอมทอง มะม่วง ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนประสบความสำเร็จ เกษตรกรขานรับดียิ่ง สามารถจับคู่ธุรกิจให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ทันที
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรมฯ ได้ดำเนินโครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” ครั้งที่ 1 ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรในจังหวัดอุดรธานี เช่น สมุนไพร ยางพารา กล้วยหอมทอง และมะม่วง เป็นต้น
ซึ่งได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิต แปรรูปผลิตภัณฑ์ ช่องทางการเข้าสู่ตลาด และใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร และให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 5 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และบึงกาฬ โดยมีการจัดสัมมนา เรื่อง “ชี้ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” ให้กับเกษตรกรกว่า 130 คน ณ จังหวัดอุดรธานี
นางอรมน กล่าวว่า การลงพื้นครั้งนี้ พบว่าเกษตรกรกลุ่มต่างๆ มีองค์ความรู้ด้านสินค้าเกษตร และเห็นความสำคัญของการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ประสบปัญหาเรื่องที่เกษตรกรยังมีช่องทางการจำหน่ายไม่มากนัก ซึ่งกรมฯ ได้แนะนำช่องทางการจำหน่ายโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุน เกาหลี
รวมทั้งได้ให้คำแนะนำเรื่องมาตรฐาน กฎระเบียบทางการค้าของประเทศคู่ค้า ตลอดจนช่องทางการเข้าสู่ตลาดในประเทศ ผ่านตลาดประชารัฐ ตลาดต้องชม ตลาดธงเขียว และการค้าออนไลน์
นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการจับคู่ธุรกิจให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในทันที ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง อำเภอหนองวัวซอ ที่ผลผลิตไม่พอกับความต้องการของตลาด กับกลุ่มวิสาหกิจกล้วยหอมทองจากจังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีผลผลิตมาก แต่ไม่มีตลาดรองรับ
นางอรมน กล่าวเสริมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว กรมฯ ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ผลิต เนื่องจากได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็น รับฟังข้อมูล ทราบความต้องการหรือปัญหาจากเกษตรกรโดยตรง
ซึ่งในครั้งนี้ กรมฯ ได้ลงพื้นที่พบกลุ่มเกษตรกร 4 กลุ่ม ได้แก่
(1) กลุ่มสมุนไพรบ้านนาเมือง อำเภอน้ำโสม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกขมิ้นชันที่มีสารสรรพคุณยาเข้มข้นเฉพาะถิ่นและรอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในชุมชน โดยในพื้นที่กลุ่มมีการปลูกพืชสมุนไพรกว่า 1,500 ชนิด ที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นยา อาหารเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ความงามได้
(2) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราบ้านโนนบก ซึ่งปลูกยางพารา 200,000 ไร่ มีโรงงานแปรรูป และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น ถุงมือผ้าเคลือบยางพารา หมอนขิดยางพารา และหมอนยางพารา
(3) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง อำเภอหนองวัวซอ ซึ่งเดิมเกษตรกรเน้นการปลูกมะม่วง แต่ภายหลังหันมาปลูกกล้วยหอมทองส่งขาย เนื่องจากมีต้นทุนต่ำและใช้สารเคมีน้อยกว่า มีการนำผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานมาแปรรูปเป็นทองม้วนกล้วยหอมทอง รวมถึงการปลูกพริกอินทรีย์ในสวนกล้วยหอมทอง และสามารถจำหน่ายให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตของไทยทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน
(4) วิสาหกิจชุมชุมชนคนรักมะม่วง อำเภอหนองวัวซอ เป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ที่มีความเข้มแข็ง มีความชำนาญด้านการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแก้วไป สปป.ลาว เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี พร้อมกำลังพัฒนามะม่วงแปรรูป เช่น มะม่วงแช่แข็ง มะม่วงดอง บิงซูมะม่วง หวังเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนจากมะม่วงที่ไม่ได้คุณภาพส่งออก แต่ยังต้องการให้ช่วยพัฒนาผลิตถุงห่อมะม่วง ที่ปัจจุบันมีต้นทุนสูงเพราะต้องนำเข้า ซึ่งในเบื้องต้น กรมฯ ได้หารือกับโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ได้รับทราบว่า ไทยมีการพัฒนาวิจัยถุงห่อมะม่วงขายในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยกรมฯ จะประสานกับกลุ่มเกษตรกรหนองวัวซอเรื่องนี้ต่อไป
ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนที่จะดำเนินการจัดกิจกรรมร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกย่างต่อเนื่องต่อไป และครั้งต่อไปจะจัดให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคกลาง ณ จังหวัดปราจีนบุรี ในช่วงเดือนมกราคม 2562