ปลื้มเกษตรกรภาคเหนือตอนล่างใช้ประโยชน์จาก FTA
สร้างรายได้ขยายส่งออกตลาดโลก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรภาคเหนือตอนล่าง พบเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างรายได้ขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ เน้นยกระดับคุณภาพ มาตรฐานสินค้า เพิ่มการแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย สร้างแต้มต่อในการแข่งขันทางการค้า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการผนึกกำลังของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัย สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุโขทัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ร่วมลงพื้นที่จัดสัมมนาและพบปะเกษตรกรภาคเหนือตอนล่าง ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2562 ณ จังหวัดสุโขทัย ภายใต้โครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 4” ว่าได้รับความสนใจและตอบรับอย่างดีจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จากจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์
โดยเฉพาะเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟ ชาดอกกาแฟ ส้ม ละมุด และใบตองตานี ซึ่งผู้ผลิตหลายรายมีศักยภาพ สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) สร้างรายได้และขยายการส่งออกไปต่างประเทศ มีการพัฒนาสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การรักษาคุณภาพ มาตรฐานสินค้า สร้างเอกลักษณ์สินค้าในพื้นที่ มีการเสริมนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์
เช่น การปลูกกาแฟให้มีกลิ่นทุเรียน มีความหวานของน้ำตาลฟรุตโตส และคั่วมือ รวมทั้งแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งรูปแบบเมล็ดกาแฟคั่วบด และดริป อีกทั้งยังเชื่อมโยงเครือข่ายกับเกษตรกรกาแฟแม่ฮ่องสอน ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ รวมถึงสร้างพันธมิตรธุรกิจกับร้านกาแฟสด ที่พักโฮมสเตย์ สร้างเรื่องราวประวัติของกาแฟในพื้นที่ และจับมือร่วมกับธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคผู้รักสุขภาพ มีความพร้อมที่จะส่งออก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ระยะยาว
นางอรมน เสริมว่า กรมฯ ยังได้ลงพื้นที่พบหารือกับเกษตรกรผู้ผลิตส้มปลอดสารพิษกลุ่มแม่สินพัฒนา อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่กว่า 17,000 ไร่ จำหน่ายส้มสด และแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม อาทิ สบู่ส้ม สเปรย์กันยุง น้ำหมักชีวภาพ ส้มผงแห้ง รวมถึงจับมือกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างทางเดินไม้ไผ่บนยอดต้นส้ม เปลี่ยนภาพลักษณ์สู่สวนส้มปลอดภัยไร้สารพิษ ถือเป็นจุดเช็คอินท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสุโขทัย
นอกจากนี้ยังได้พบปะกลุ่มเกษตรกรใบตองตานีคลองกระจง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกใบตองขนาดใหญ่ของไทย เกษตรกรเน้นการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ แปรรูปผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรูปแบบ จากทุกส่วนของต้นกล้วย เช่น กระทงบรรจุภาชนะขึ้นรูป กระเป๋า ของตกแต่งบ้านจากใยกล้วย เมนูอาหารคาวหวาน
รวมทั้งได้พบหารือกับเกษตรกรกลุ่มละมุดอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้ ได้จำหน่ายในประเทศผ่านห้างโมเดิร์นเทรด และส่งออกไปตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะเยอรมนีแล้ว
ในการนี้ พบว่า ส้มปลอดสารพิษ ใบตองตานี ละมุดของสุโขทัย อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ซึ่งจะช่วยให้สินค้าสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น เพราะมีเรื่องราวและคุณสมบัติพิเศษต่างจากผลไม้ชนิดเดียวกันที่ผลิตจากแหล่งอื่น
“การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยังเป็นการติดตามงานของกรมเจรจาฯ ที่ได้ดำเนินการร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้จุดประกายให้เกษตรกรเห็นโอกาสของการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
โดยในการพบปะเกษตรกรครั้งนี้ พบว่าผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ประสบความสำเร็จ สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรของตนในราคาสูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไปถึง 10 เท่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ยังเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นในตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เริ่มรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น” นางอรมน กล่าว
นางอรมน เสริมว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมฯ ยังได้จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ” เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการตลาดมาเปิดเวทีติวเข้มวิเคราะห์สินค้า และแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ
โดยเกษตรกรให้ความสนใจนำสินค้ามาวิเคราะห์และจำหน่ายกันอย่างคึกคัก อาทิ กาแฟ น้ำผลไม้ กล้วยตาก ผักผลไม้ออร์แกนนิค เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะขามป้อม มังคุด ฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวอินทรีย์ น้ำมันรำข้าว และผ้าซิ่นตีนจก รวมทั้งมีการจับคู่ธุรกิจ สร้างเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มต่างๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการผลิต ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม การตลาดและช่องทางการจำหน่าย
เช่น กลุ่มกาแฟโรบัสต้าภาคเหนือตอนล่างที่เป็นการรวมกลุ่มของบ้านห้วยตมสุโขทัย กับกลุ่มดอยลับแลและกลุ่มลุ่มน้ำน่านอุตรดิตถ์ การเชื่อมโยงเครือข่าย ข้าวอินทรีย์นครสวรรค์กับสุโขทัย เป็นต้น
โดยกรมฯ เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และขยายช่องทางการจำหน่ายไปตลาดโลก โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ
โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ เช่น อาเซียน จีน อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ที่ได้ลดเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว