‘กรมเจรจาฯ’ เผย เอฟทีเอช่วยดันส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไทย
ทำยอดส่งออกประเทศคู่เจรจา 5 เดือนแรกปี 2563 โตสวนทางตลาดโลก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอ 5 เดือนแรก ปี 2563 ทำยอด 11,263 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.25 สวนทางตลาดโลกที่หดตัว ดันไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ลำดับที่ 9 ของโลก มั่นใจ! เอฟทีเอเป็นอาวุธสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการเผชิญวิกฤตการค้าช่วงโควิด-19
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์จับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขยายการส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลก ทำงานเชิงรุก เพื่อมุ่งมั่นขยับอันดับการแข่งขันของไทยในตลาดโลก
จากผลการติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – พ.ค.) พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 2.25
โดยตลาดฮ่องกง ขยายตัวสูงสุด ร้อยละ 20 รองลงมา คือ ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 16 การค้ารวมของประเทศคู่เอฟทีเอมีมูลค่าถึง 11,263 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดโลก
โดยมีคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก คือ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น ทำให้ไทยขยับลำดับขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ลำดับที่ 9 ของโลก จากเดิมอยู่ในลำดับที่ 11 ในปี 2562
นางอรมน เพิ่มเติมว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยที่การส่งออกขยายตัวมากที่สุด ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ได้แก่ เนื้อสุกรสด ขยายตัวร้อยละ 693 รองลงมา คือ ทุเรียนสด ขยายตัวร้อยละ 66.5 สินค้าปลาสด ขยายตัวร้อยละ 29 ไก่สด ขยายตัวร้อยละ 27.85 มังคุด
และอาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวเท่ากันที่ร้อยละ 16 ผลิตภัณฑ์ข้าว ขยายตัวร้อยละ 10 และมะม่วงสด ขยายตัวร้อยละ 4 สอดคล้องกับสถิติการขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ
โดยพบว่าสินค้ากลุ่มเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีการขอใช้สิทธิประโยชน์มากเป็นอันดับต้น เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด เนื้อไก่สดและแปรรูป กุ้งปรุงแต่ง ปลาทูน่าและปลาทูน่าปรุงแต่ง และปลาสคิปแจ๊ค เป็นต้น
“เอฟทีเอนับเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศคู่เอฟทีเอได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปส่วนใหญ่ของไทยแล้ว
ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องรักษาคุณภาพสินค้า และศึกษาความต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน” นางอรมนเสริม