10 ปีเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด กับการรวมตัวครั้งสำคัญ
รุ่นพี่ - รุ่นน้อง ส่งต่อแนวคิด ส่งต่อกำลังใจ
สานต่ออุดมการณ์ สู่การพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน
28 พฤศจิกายน 2561 : ผ่านไปอย่างสวยงาม กับบรรยากาศการประกาศผล เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2561 ในปีนี้ถือเป็นปีที่ 10 ของการเฟ้นหาเกษตรกรที่มีความโดดเด่น ภายใต้แนวคิด "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน" และถือเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ในหลาย ๆ รุ่น ที่ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดี กับรุ่นน้องที่ร่วมประกวดในปีนี้ และมีการส่งต่อ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้เกิดเครือข่ายเกษตรกร ที่สามารถผลักดันภาคการเกษตรของไทยให้ยั่งยืนต่อไปได้
ในการจัดการประกวดในแต่ละปี จะมีกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกร ทั้งรุนพี่และรุ่นน้อง ก่อนวันประกาศผล เพื่อปลุกความคิด สะกิดไอเดียให้กับเกษตรกร ด้วยการจัด Workshop เสริมองค์ความรู้ด้านต่างๆ จากวิทยากรผู้มากด้วยประสบการณ์และความสามารถ และรับแนวคิด ข้อคิดต่างๆ จาก "พี่ใหญ่" นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด เป็นประจำทุกปี
บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ร้อยยิ้ม และเสียงหัวเราะ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่องค์ความรู้ที่รุ่นน้องจะได้รับจากการแชร์ประสบการจากรุ่นพี่ แต่มันคือความสัมพันธ์ที่ดี มันคือเครือข่ายเกษตรกรที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้น และเข้มแข็งขึ้นในทุกๆ ปี
จากความตั้งใจของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด พร้อมด้วยองค์กรภาคีที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด อย่างกรมส่งเสริมการเกษตร และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ ดีแทค ได้ดำเนินโครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด มุ่งหวังที่จะพัฒนาคน เชิดชูเกษตรกร ที่มีความโดดเด่นที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งปราชญ์เกษตร การทำเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่มเกษตรกร การทำแผนพัฒนาการเกษตร แผนธุรกิจออนไลน์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมไปถึงการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายเกษตรกร สร้างพลัง สร้างความเข้มแข็ง ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในหลายมิติ นำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ
การจัดการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด นอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาคน ได้เชิดชูเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถ ยังทำให้เกิดกลุ่มคนกลุ่มใหม่ขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้ คือคนคุณภาพด้านการเกษตร คนที่จะมาร่วมกันพัฒนาภาคการเกษตรของไทย หนึ่งคนที่มีความรู้ความสามารถด้านหนึ่ง มารวมกับอีกหลายๆ คนที่มีความรู้ความสามารถอีกหลายๆ ด้าน นี่ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ ปี และจะเป็นเครือข่ายเกษตรกรที่เหนียวแน่น ที่จะร่วมกันพัฒนาการเกษตรของไทยให้ก้าวหน้าต่อไปได้ เพราะเราคือ "เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด"
ผลการประกวด "เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด" ประจำปี พ.ศ. 2561
ชนะเลิศอันดับที่ 1
นางสาวพิมพ์วรัตน์ เรืองประชา เกษตรกรผู้บุกเบิกการปลูกพืชเมืองหนาวทั้งสตอเบอรี่และหม่อนในพื้นที่เขตร้อนอย่าง จ.สุพรรณบุรี บ้านเกิดของเธอ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีและงานวิจัยทางการเกษตรจากสถาบันวิจัยเกษตรดอยปุยสามารถทำให้เป็นไปได้ สร้างความตื่นตาให้กับชุมชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถี 'ไร่พิมพ์วรัตน์' สร้างรายได้ให้ชุมชน เป็นต้นแบบในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความคิดต่าง
รองชนะเลิศอันดับ 1
นางสาวลลิดา คำวิชัย เกษตรกรชาวสวนมะม่วงแห่ง จ.สระแก้ว ในนาม 'ไร่ ณ ชายแดน' ผู้นำในการรวมกลุ่มและพัฒนาสายพันธุ์มะม่วงแก้วขมิ้นไร้สารเคมี ยึดหลักการตลาดนำการผลิต สร้างความเป็นเอกลักษณ์และสร้างรายได้ให้ชุมชน
รองชนะเลิศอันดับ 2
นายอาญาสิทธิ์ เหล่าชัย เกษตรกรนาข้าว 'อารยะฟาร์ม' จ.ร้อยเอ็ด ผู้นำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นประยุกต์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ พลิกฟื้นผืนนาจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำรวมกลุ่มวิสาหกิจผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์ครบวงจร
เกษตรกรดีเด่น
นางสาวกนกวรรณ อรุณคีรีวัฒน์ เกษตรกรชาวสวนมะม่วงแห่ง จ.ราชบุรี เจ้าของไร่ 'สุดปราย ที่สวนสุขจรัล' รวมกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ในชุมชน พร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน
นายชยพล สุ่ยหล้า เกษตรกรชาวสวน 'ซูโม่แฟมิลี่'แห่ง จ.ร้อยเอ็ด ผู้นำความรู้ในการปลูกถั่วลิสงมาประยุกต์กับเทคโนโลยี พร้อมแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ รวมกลุ่มการผลิต สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในฤดูทำนา
นางสาวปคุณา บุญก่อเกื้อ เกษตรกรสวนเมล่อน จ.ฉะเชิงเทรา ผู้เริ่มทำเกษตรจากศูนย์ แต่มีใจรักและต้องการปลูกเมล่อนปลอดสารพิษ โดยนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้จนได้ผลผลิตคุณภาพสูง พร้อมกับเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เมื่อเวลาใครผ่าน จ.ฉะเชิงเทรา จะต้องถามหา 'บ้านสวนเมล่อน' ของเธอ
นายพิทักษ์ พึ่งพเดช เกษตรกรสวนมะพร้าวแห่งบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการแปรรูป รวมทั้งพัฒนาต่อยอดผลิภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอม สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรในพื้นที่
นางสาวศิริพร เอี่ยววงศ์เจริญ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์จาก จ.พิจิตร ในชื่อ 'บุญมาฟาร์ม' ที่สามารถชูจุดเด่นการทำเกษตรไร้สารเคมีจนสามารถส่งออกสู่ต่างประเทศ พร้อมต่อยอดปลูกสมุนไพรไทยส่งออก
นายสุระเทพ สุระสัจจะ เกษตรกรคนรุ่นใหม่จาก จ.บุรีรัมย์ ผู้ปลูกพืช ผักและผลไม้ปลอดภัย พร้อมเป็นโมเดลต้นแบบขยายสู่ชุมชน รวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชน เป็นผู้นำเครือข่ายสินค้าเกษตรปลอดสารพิษส่งขายตลาดพรีเมี่ยมที่ใครๆ ก็รู้จักในชื่อ 'ไร่เพื่อนคุณ'
นายอดุลย์ วิเชียรชัย เกษตรกรเจ้าของ 'อดุลย์ คลองหลวง ฟาร์มเห็ด' แห่ง จ.ปทุมธานี ผู้เป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรครบวงจร บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ พร้อมส่งเสริมเกษตรกรในชุมชน
ที่มา : https://www.rakbankerd.com/agriculture/hilight-view.php?id=135&s=tblheight