เร่งเจาะตลาดผู้สูงวัย ขุมทรัพย์หมื่นล้าน
โดย ฐานเศรษฐกิจ - 9 กุมภาพันธ์ 2562
แม้ว่างานสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “ROAD to Silver Age เจาะขุมทรัพย์หมื่นล้าน” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จะปิดฉากลงแล้ว แต่เนื้อหาที่ถูกสะท้อนผ่านมุมมองของวิทยากรแต่ละท่าน เต็มเปี่ยมไปด้วยสาระที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินนโยบาย และแผนการดำเนินธุรกิจ รวมถึงชีวิตประจำวัน
ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรที่เข้าร่วมงานสัมมนา ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพโครงสร้างการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พร้อมชี้ช่องทางการเจาะตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. กลุ่มข้าราชการบำนาญ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มพรีเมียม มีกำลังซื้อสม่ำเสมอ มีสวัสดิการด้านสุขภาพทั้งครอบครัว ที่จะสามารถจับจ่ายได้
2. กลุ่มคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พอมีกำลังจับจ่ายอยู่บ้าง
3. กลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีความคุ้มครองทางสังคมน้อย
ต้องยอมรับว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ซึ่งสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานปรับลดลง ขณะที่สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นและก้าวสู่สังคมสูงวัยในอนาคต ประกอบกับความก้าวหน้าทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขทำให้คนไทยมีอายุยืนยาวเฉลี่ย 77 ปี ส่งผลให้โครงสร้างของประชากรไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
คาดว่าในปี 2579 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ และผู้ที่จะได้รับผลกระทบจะอยู่ในช่วงอายุ 40 – 50 ปีในปัจจุบันที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ส่งผลต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านบวกและด้านลบ
ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของประชากรทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุยากจนถูกทอดทิ้ง ผู้มีรายได้ปานกลางและกลุ่มผู้มีศักยภาพทางการเงินสูง โดยเฉพาะกลุ่มสูงวัยที่มีศักยภาพ ที่มีอายุระหว่าง 55-70 ปี มีรายได้ตั้งแต่ 45,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปประมาณ 3.5 แสนคนจากจำนวนประชากรของประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี
ดังนั้นโอกาสทางเศรษฐกิจจากการมีส่วนร่วมของประชากรวัยสูงอายุที่กำลังจะเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศทั้งโครงสร้างการผลิตจะต้องเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจการสร้างมูลค่าที่เน้นนวัตกรรม จากการใช้แรงงานจำนวนมาก หรือการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและภาคบริการ รวมถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีผลิตภาพสูงขึ้นและเชื่อมโยงประชากรในวัยแรงงาน (GEN Y) เพื่อบริหารจัดการพลังของประเทศให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว
ดร.นฤมล ชี้!“สังคมสูงวัย”ซุกปัญหา แต่ซ่อนโอกาส
ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาถึงนโยบายของรัฐบาลในการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตอนหนึ่งว่า
เคยทำการศึกษาเรื่อง “ประกันสังคมของผู้สูงวัย” ตั้งแต่เรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคม โดยได้ศึกษากองทุนประกันสังคมของไทย ซึ่งต้องมีการแก้ไขในหลายเรื่องเพื่อไม่ให้เงินของกองทุนหมด เพราะหากหมดแล้ว อาจจะเป็นภาระกับภาษีและงบประมาณในอนาคต
ซึ่งปัญหาของสังคมผู้สูงวัยที่จะตามมา คือ ภาระของรัฐ เพราะแรงงานที่จะเข้ามาในระบบจะน้อยลง เม็ดเงินภาษีที่จะนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็จะน้อยลง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมารองรับกับสังคมสูงอายุ และส่วนอื่นๆ ที่จะต้องดูแลอีก
ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า อยากให้มองปัญหาสังคมผู้สูงอายุทั้งภาพใหญ่ เพราะไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาคนสูงอายุ แต่จะเป็นปัญหาประชากรทั้งระบบ ตั้งแต่เกิด ที่ต้องดูแลตั้งแต่ในครรภ์ การดูแลในช่วง 6 ขวบปีแรก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเรื่องโภชนาการ วินัย ความรู้ หลักสูตรการเรียนการสอนก็ต้องเปลี่ยนไป ดังนั้น เดือนหน้าจะมีการเลือกตั้ง ขอให้ดูว่าพรรคใดมีนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงวัย เพื่อให้รัฐบาลเข้าดูแลเรื่องนี้ตั้งแต่ในครรภ์
ดร.นฤมล กล่าวอีกว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีการศึกษาวิจัย พบว่า อีก 2 ปี จะมีผู้สูงอายุ 17% ของประชากร ซึ่งจะเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ผู้สูงอายุติดบ้าน มีประมาณ 1.9 ล้านคน
2. ผู้สูงอายุติดเตียง ประมาณ 2 แสนคน
3. ผู้สูงอายุติดสังคม ประมาณ 8 ล้านกว่าคน
ซึ่งนโยบายของรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับทั้ง 3 กลุ่ม และเจ้าของกิจการอาจคิดค้นสินค้าและนวัตกรรมมารองรับ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุราคาถูกลงด้วยเทคโนโลยี
อย่างเช่น โรคติดบ้าน อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าตามมา ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ บริการใด ให้กระตุ้นสมอง ช่วยให้อยากอยู่ในสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เช่นเดียวกับผู้สูงอายุติดเตียงก็มีสินค้าและบริการมาช่วยดูแลเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ส่วนที่ผู้สูงอายุติดสังคมอาจจะมีผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับ 8 ล้านคน ให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพราะเขามีกำลังทรัพย์ในการใช้จ่ายได้
‘ไทย’ขึ้นแท่น”สังคมสูงวัย” 3 แสนคนกำลังซื้อศักยภาพ
“หมอบุญ” ชี้! ไทยขึ้นแท่น “สังคมผู้สูงวัย” อันดับ 2 ของเอเชีย โอกาสธุกิจเฮลธ์แคร์-ที่อยู่อาศัย
นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “ส่องโอกาสและธุรกิจ Silver Age” ภายในงานสัมนา : Road to Silver Age เจาะขุมทรัพย์หมื่นล้าน ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า
ปัจจุบัน การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของกลุ่มคนผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้ ไทยกำลังขึ้นแท่นเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุด พบประชากรไทยสัดส่วนประมาณ 20% เป็นคนที่มีอายุเกิน 60 ปี
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนดังกล่าวยังมีบทบาทในเชิงการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจากมีกำลังซื้อมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี มีเงินสะพัดหมุนเวียน 30% จากกำลังซื้อของคนเหล่านี้ แตกต่างจากคนช่วงวัย 25-50 ปี ที่มักจะก่อหนี้มากกว่า
ฉะนั้น ถือเป็นโอกาสในการทำธุรกิจเพื่อตอบสนองกลุ่มคนดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจการแพทย์และกลุ่มที่อยู่อาศัยที่จะตอบโจทย์การใช้ชีวิต หลังจากคาดว่า ด้วยจำนวนประชากรสูงวัยที่จะเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกในช่วง 5 ปีข้างหน้า ทำให้การแพทย์จะมีบทบาทมากในการสนับสนุนการใช้ชีวิตและรักษาอาการเจ็บป่วย
ขณะเดียวกัน เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาททางการแพทย์มากขึ้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะสามารถลดค่าใช้จ่าย ลดทอนเวลา และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้รับบริการได้ ผู้ประกอบการใดสามารถปรับตัวได้ทัน และเลือกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จะถือเป็นโอกาสอย่างยิ่งในการทำธุรกิจ เช่น บริการถามตอบอาการเจ็บป่วยผ่านโทรศัพท์ ใช้ AI เสริมบริการทางการแพทย์ เป็นต้น
“คนสูงวัยที่มีกำลังซื้อในไทย ถือเป็นโอกาส เพราะปัจจุบันมีธุรกิจการแพทย์ หรือ ซัพพลายที่อยู่อาศัยเฉพาะกลุ่ม แทบรองรับไม่เพียงพอ ฉะนั้น ยังมีดีมานด์มหาศาลที่เป็นโอกาสและเป็นช่องว่างในการทำธุรกิจ”
ทั้งนี้ เบื้องต้น มีความเป็นห่วงสถานการณ์ในไทย เพราะจากการสำรวจ พบขณะนี้มีประชากรไทยเพียง 4% หรือประมาณ 3 แสนคน ที่มีการเตรียมพร้อมทางการเงิน มีเงินเก็บเกิน 7 แสนบาท สำหรับการวางแผนการใช้ชีวิตหลังช่วงวัยเกษียณ
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายสูงวัย ที่ส่วนใหญ่แทบไม่มีการเตรียมความพร้อม บั้นปลายชีวิตต้องอยู่คนเดียว ไร้คนดูแล และมีเงินทองไม่เพียงพอสำหรับการซื้อบริการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง
กลุ่มแอคทีฟ ซีเนียร์ มองหาประสบการณ์ในการท่องเที่ยวมากกว่าสถานที่
ททท.ชี้ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มแอคทีฟ ซีเนียร์ คิดเป็นสัดส่วน29%ชี้เทรนด์ มองหาประสบการณ์ในการท่องเที่ยว มากกว่าสถานที่
นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวในเวทีสัมมนาของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หัวข้อ “ส่องโอกาสและธุรกิจ Silver Age” ว่า
ททท.แบ่งกลุ่มในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยไม่ได้มองเรื่องจีโอ กราฟฟิก หรือ แบ่งตามช่วงอายุ เป็นหลักอย่างในอดีต แต่จะแบ่งจากไลฟ์สไตล์ กิจกรรมที่สอดรับกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของนักท่องเที่ยว
โดยในกลุ่มซิลเวอร์เอจ เราโฟกัสที่กลุ่มแอคทีฟ ซีเนียร์ ทั่วโลก ซึ่งสินค้าหลักที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มองหาคือประสบการณ์ที่จะได้รับจากการเดินทางมาท่องเที่ยว ยิ่งกว่าการมองหาสถานที่ที่ไป ดังนั้นขอให้มีไอเดีย รู้จักพฤติกรรมก็สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มแอคทีฟ ซีเนียร์
ไทยมีนักท่องเที่ยวกลุ่มแอคทีฟ ซีเนียร์ อยู่ที่ 7 ล้านคน เฉลี่ยนักเที่ยวมาไทยที่ 30 กว่าล้านคน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 29 % โดย 1 ใน 5 เป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชียเหนือ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ตามมาด้วยอาเซียน และยุโรป ที่เกษียณแล้ว เลือกที่จะมาซื้อบ้าน และใช้ชีวิตอยู่ในไทย จากค่าครองชีพที่ถูกกว่า
กลุ่มแอคทีฟ ซีเนียร์ มองหาประสบการณ์ในการท่องเที่ยว เพราะไปแสวงหาแรงบันดาลใจ หนีความจำเจ การไปแสวงหาเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่สถานที่นั่นๆ ไม่เพียงตลาดต่างชาติเท่านั้น คนไทย ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เรามองว่าเป็น “กลุ่มเก๋ายกก๋วนชวนเที่ยวไทย” ที่ส่วนใหญ่มาเที่ยวพร้อมกัน 4 คน ชอบพักโรงแรม 4-5 ดาว นิยมจองล่วงหน้าเฉลี่ย 16 วัน ชอบโปรโมชั่นอย่าง “โปรไฟไหม้”
แนวโน้มการท่องเที่ยวในกลุ่มแอคทีฟ ซีเนียร์ ยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเราควรให้ความสำคัญในการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับ
ความสำคัญของการท่องเที่ยวปัจจุบันไทยมีรายได้ทั้งคนไทยและต่างชาติ อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพีแล้ว และองค์การการท่องเที่ยวโลก คาดการณ์ว่าไทยจะมีนักเที่ยวถึง 50 ล้านคนในอีก3ปีข้างหน้า ซึ่งไทยไม่ได้มองเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว แต่มองเรื่องคุณภาพ ในการขยายรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังจะเห็นว่าวันนี้ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวติดอันดับ 10 ของโลก ขณะที่ในแง่ของรายได้อยู่ในอันดับ 4 ของโลก
แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยท้าทาย คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม และเซฟตี้แอนด์ซีเคียวริตี้ ที่ยังต้องแก้ไข รวมถึงเรื่องของสุขอนามัย ทั้งๆที่ไทยได้รับการโหวตในเรื่องสตรีทฟู้ด
ที่มา :