EXIM BANK สานพลังทีมไทยแลนด์และพันธมิตรในญี่ปุ่นส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น
กระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในเอเชีย-แปซิฟิก
เมื่อวันที่ 8-9 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK นำโดย ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK พร้อมด้วยกรรมการ EXIM BANK นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะอนุกรรมการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ สาขาสถาบันการเงิน (SubPAC) ผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (Institute of Research and Development for Public Enterprises : IRDP) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนภารกิจ EXIM BANK ในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ได้พบปะหารือและขยายความสัมพันธ์กับหน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชนในญี่ปุ่น
เพื่อส่งเสริมโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ภาคธุรกิจไทยในการขยายการค้าและการลงทุนกับญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation : JBIC), องค์กรรับประกันการส่งออกและลงทุนแห่งประเทศญี่ปุ่น (Nippon Export and Investment Insurance : NEXI), TradeWaltz, MUFG Bank, Ltd. และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA)
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของไทย ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ และจีน) เป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 1 ในไทย โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต อาทิ เครื่องจักร ยานยนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ใน 10 อันดับแรก ที่นักธุรกิจไทยสนใจไปลงทุน อาทิ โรงแรม อาหาร เสื้อผ้า สปา โทรคมนาคม ก่อสร้าง และพลังงานทดแทน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน) ซึ่ง 80% ของสินค้านำเข้าจากไทยเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนไทยนิยมนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบมูลค่าสูงจากญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นขยายตัวเพียง 0.9% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในญี่ปุ่นอยู่ระหว่างค่อยๆ ฟื้นตัว เป้าาหมายภารกิจของ EXIM BANK ในครั้งนี้ จึงได้แก่ การสานพลังหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนไทย ร่วมกับทีมประเทศไทย เพื่อเสริมและยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของญี่ปุ่นที่เป็นต้นแบบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรมถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ตามนโยบายของรัฐบาลไทย
ในโอกาสนี้ EXIM BANK ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงินของญี่ปุ่น ดังนี้
•บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศญี่ปุ่น ระหว่าง EXIM BANK กับ JBIC
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายอามากาวะ คาซูฮิโกะ รองผู้ว่าการธนาคาร JBIC ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศญี่ปุ่น ทั้งด้านการเงินและด้านที่ไม่ใช่การเงิน อาทิ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อต่อยอดไปสู่การขยายการค้าการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมโยงสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดภายใต้โมเดล BCG Economy โดยต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรม สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ JBIC สำนักงานใหญ่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
•ภาคผนวกบันทึกความเข้าใจ (Addendum) ระหว่าง EXIM BANK กับ NEXI
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายอัทซูโอะ คุโรดะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEXI ลงนามในภาคผนวกบันทึกความเข้าใจ (Addendum) เพิ่มเติมจาก MOU ระหว่างทั้งสองหน่วยงานที่ลงนามไว้เมื่อปี 2563 โดยมี ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK และผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตรร่วมเป็นสักขีพยาน ณ NEXI สำนักงานใหญ่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ EXIM BANK และ NEXI จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินกิจกรรมร่วมกันเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นมีความรู้ความเข้าใจด้านเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย โดยปี 2566 EXIM BANK จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมองค์กรรับประกันการส่งออกของรัฐระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Regional Cooperation Group CEO Meeting) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการพัฒนาและขยายบริการประกันการส่งออกและลงทุนแก่ภาคธุรกิจในประเทศต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังได้พบปะหารือกับหน่วยงานพันธมิตรของ EXIM BANK จากภาครัฐและภาคเอกชนในญี่ปุ่น ดังนี้
•เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว
ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK นำคณะ เข้าเยี่ยมคารวะและพบปะหารือกับนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว เพื่อแนะนำยุทธศาสตร์และบทบาทใหม่ของ EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย และแนวทางส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และภายใต้กรอบข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมทั้งยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
•TradeWaltz ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการค้าระหว่างประเทศ
ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK นำคณะ พบปะหารือกับนายซาโตรุ โซเมยะ กรรมการผู้จัดการ TradeWaltz Inc. และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เกี่ยวกับแนวทางพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยกับญี่ปุ่น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลสำหรับตัดสินใจและค้นหาคู่ค้า ลดต้นทุนและความยุ่งยากในการจัดเก็บเอกสาร โดย TradeWaltz อยู่ระหว่างต่อเชื่อมระบบกับแพลตฟอร์มกลางด้านการค้าของนานาประเทศรวมทั้งประเทศไทย เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งสินค้าหรือวัตถุดิบได้รวดเร็ว
•JICA
ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK นำคณะ พบปะหารือกับนายเคอิชิโระ นากาซาวา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และแปซิฟิก และฝ่ายการเงินพันธมิตรภาคเอกชน ณ JICA เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น รวมทั้งการลงทุนภายใต้ ACMECS โดยเฉพาะโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและ BCG
•MUFG Bank, Ltd. และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK พร้อมด้วยกรรมการ EXIM BANK และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นำคณะ พบปะหารือกับคณะผู้บริหาร MUFG Bank, Ltd. และนายประกอบ เพียรเจริญ กรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธนาคารในเครือของ MUFG Group เพื่อหารือกรอบความร่วมมือและแลกเปลี่ยนมุมมองการดำเนินธุรกิจตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ MUFG Bank, Ltd. ถือเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรและคู่ค้าที่สำคัญของ EXIM BANK ที่จะช่วยสนับสนุนบทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ EXIM BANK