“จุรินทร์” ถกผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เวที APEC ขอ US ปลดไทยจากบัญชี WL
และให้หนุนไทยเป็นแหล่งผลิตและแหล่งลงทุนผลิตวัตถุดิบป้อนสหรัฐฯ
ตามนโยบาย Supply America
20 พฤษภาคม 2565, กรุงเทพฯ : นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือทวิภาคี (Bilateral discussions) กับนางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ปี 2564 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.77 ล้านล้านบาท ถือเป็นคู่ค้าลำดับสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย รองจากจีน และญี่ปุ่น โดยไทยได้ดุลสหรัฐอเมริกา และสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกลำดับ 1 ของไทยโดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐ 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.31 ล้านล้านบาท สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งไปสหรัฐฯ เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น
ประเด็นที่ไทยหารือกับท่านรัฐมนตรีผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ มี 3 ประเด็นสำคัญ
ประเด็นที่หนึ่ง ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาถอดไทยออกจากบัญชีจับตามอง หรือ WL(Watch List) ด้านทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายนปีนี้ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่า มีความคืบหน้าอย่างยิ่งในการดำเนินการจัดการการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีกฎหมายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความทันสมัย และมีรายงานจากผู้แทนของสหรัฐฯ ที่มาติดตามความคืบหน้าการดูแลด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย รายงานไปในทางบวกที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว
ประการที่สอง ไทยขอให้สหรัฐฯ สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบและแหล่งลงทุนด้านการผลิตวัตถุดิบทั้งขั้นต้นและขั้นกลางให้กับสหรัฐอเมริกา ตามนโยบายของประธานาธิบดีไบเดน ที่ชื่อว่า “ซัพพลายอเมริกา” ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ โดยวัตถุดิบที่จะเป็นวัตถุดิบขั้นกลางในการสนับสนุนการผลิตขั้นต่อไปในสหรัฐฯ ไทยได้เชิญชวนมาลงทุนที่เมืองไทย เช่น การผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนด้านวัตถุดิบเกี่ยวกับอาหาร ยา และการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
ประการที่สาม เนื่องจากปีนี้เราเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยไทยเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีเขตเศรษฐกิจการค้า 21 เขตเศรษฐกิจ ขอให้สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนการออกแถลงการณ์ร่วมที่เป็นผลจากการประชุมครั้งนี้ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่มีประเด็นขัดข้อง
สำหรับประเด็นที่สหรัฐฯ หยิบยกมาคุยกับไทยมีด้วยกัน 3 ประเด็นหลัก
ประเด็นที่หนึ่ง สหรัฐฯ แจ้งว่าสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของประเทศไทยในปีนี้ และสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าของเอเปค และที่สำคัญปีหน้าสหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคต่อจากประเทศไทย ขอให้ช่วยสนับสนุนด้วยเช่นเดียวกัน และขอเชิญผู้แทนจากประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกับสหรัฐอเมริกาต่อไปในปีหน้า
ประเด็นที่สอง เรื่องการประชุมองค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) ขึ้นมาหารือมีความเห็นที่สอดคล้องกันในภาพรวมทั้ง 2 ประเทศ ต่างล้วนประสงค์ผลักดันให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกหรือที่เรียกว่า MC 12 (Ministerial Conference) เกิดขึ้น ประเด็นสำคัญ เช่น การปฏิรูป WTO การจัดตั้งองค์กรอุทธรณ์ของ WTO ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะมีความสำคัญสำหรับกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อองค์กรพิจารณาข้อพิพาทขั้นต้นได้มีคำตัดสินแล้ว ยังสามารถอุทธรณ์ไปยังองค์กรอุทธรณ์ได้ แต่ขณะนี้องค์กรอุทธรณ์ยังไม่มีการจัดตั้งขึ้น ต้องรอผลการประชุมร่วม WTO ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยยุติข้อพิพาทระหว่างสมาชิก เห็นควรให้จัดตั้งองค์กรนี้โดยเร็ว
ประเด็นที่สาม เรื่องกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก และแจ้งให้ประเทศไทยรับทราบ และเชิญประเทศไทยเข้าร่วมในการประกาศเจตนารมณ์จัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ขึ้นที่กรุงปารีสในช่วงประมาณวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ซึ่งไทยแจ้งว่าคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แจ้งความประสงค์ในการเข้าร่วมการแสดงเจตนารมณ์เจรจาต่อไป สำหรับการเชิญรัฐมนตรีพาณิชย์เข้าร่วมประชุมในช่วงที่ปารีสนั้นตนรับทราบเป็นการเบื้องต้น
อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้และวันมะรืนนี้ (21-22 พ.ค.65)จะมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าเอเปคซึ่งสหรัฐฯจะเข้าร่วมการประชุมด้วยตลอด 2 วัน ถ้ามีประเด็นอะไรเพิ่มเติมก็จะหยิบยกขึ้นมาหารือกันในที่ประชุมได้เพิ่มเติมอีกครั้ง