หัวข้อที่ 1: Highlight ที่เกิดขึ้นภายในงาน APEC CEO Summit 2022
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศไทยเราได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม APEC CEO Summit 2022 โดยได้ต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาและร่วมเสวนาจำนวน 8 ท่าน อาทิ
-พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ขึ้นกล่าวปาฐกถาเปิดการประชุม
-นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปาฐกถาย้ำถึงพันธสัญญาของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และความเป็นหุ้นส่วนอย่างทั่วถึงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
-นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางวิกฤตการณ์โลก”
-นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การส่งเสริมการเติบโตอย่างครอบคลุมและการพัฒนาร่วมกันในเอเปค”
-นายกาบริเอล โบริก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐชิลี ร่วมเสวนาในหัวข้อ“การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคม”
-นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม ปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตของการค้าและการลงทุนในเอเชียแปซิฟิก”
-นายแฟร์ดินันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนีย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ร่วมเสวนาในหัวข้อ“เศรษฐกิจโลกและอนาคตของเอเปค”
-นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา รองประธานาธิบดีคนที่ 1 สาธารณรัฐเปรู ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคม”
รวมผู้นำจากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนจำนวน 38 ท่าน ที่ร่วมเวทีในการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ จำนวน 16 หัวข้อ
หัวข้อที่ 2: ความโดดเด่นของประเทศไทยบนเวที APEC CEO Summit 2022 ตลอดจนภาพรวมการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต
-การประชุมในวันแรกได้รับเกียรติจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปีนี้ประเทศไทยเรามีการเสนอแนวคิด BCG Model เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในองค์รวม โดย พล.อ. ประยุทธ์ได้เน้นย้ำว่า ภาคเอกชนมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
-นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้ประกาศว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้
-เน้นให้เห็นถึงความสำคัญในการลงทุนเพื่อช่วยเหลือ MSMEs ไทย ตลอดจนกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสังคม ให้ได้รับความเป็นธรรมและการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม รวมถึงผลักดันให้กลุ่มสตรีมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
-ท่านนายกยังเน้นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นมิติใหม่ของการสร้างอาชีพ และการเจริญเติบโตในภูมิภาคเอเปค จึงเน้นให้การมุ่งไปสู่ดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในปีนี้ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค
หัวข้อที่ 3: สรุป 3 ประเด็นสำคัญที่ผู้นำและผู้ร่วมอภิปรายกล่าวถึง
(1) การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development)
(2) การเติบโตอย่างครอบคลุม (inclusive growth)
(3) ความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาค (regional partnership)
ในประเด็นแรก (1) การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development)
- ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาด้านสาธารณสุขและสุขภาพ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงทางอาหารและการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกัน และมีความจำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องเข้ามาร่วมระดมความคิดในการแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยความร่วมมือ (Engagement and partnership) และพหุภาคี (Multilateralism) จะมีความสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหาวิฤตการ์โลกที่เศรษฐกิจต้องการการฟื้นตัว รวมทั้งผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อและการแพร่ระบาดจากโควิด ผู้นำรัฐบาลและภาคเอกชนควรออกแบบนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- Environment: การเปลี่ยนผ่านของพลังงานสู่พลังงานสีเขียว และการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยลดการปล่อยมลพิษและคาร์บอนไดออกไซด์ให้ป็นศูนย์ในอนาคต ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและลูกค้า ดังนั้น การพัฒนาสีเขียวที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อ ESG หรือ environment, social and corporate (สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการนำ BCG model ไปใช้กับภาคธุรกิจและบริการ สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด อาทิ การสนับสนุนการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle - EV)
- Sustainable Finance: การเงินเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การออก green bond เพื่อระดมทุนมาสนับสนุนธุรกิจหรือโครงการสอดคล้องกับความยั่งยื่นของโลก
- Sustainable Tourism: การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยผนึกกำลังร่วมกับ Meta นำเสนอแคมเปญ Rediscover Thailand โปรโมตการท่องเที่ยวครบทั้ง 4 ภาคของไทยในรูปแบบ Augmented Reality ซึ่งจะเน้นการท่องเที่ยวที่เชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ
- Food Security: ความมั่นคงทางอาหาร เช่น การดึงเอาเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ อย่าง AG Tech (agricultural technology) เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต
ประเด็นที่สอง (2) เรื่องการเติบโตอย่างครอบคลุม (inclusive growth)
- มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ไม่ใช่ในแง่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ต้องรวมถึงสุขภาพจิตของประชาชน ความเป็นอยู่ของเด็กเยาวชน ความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันสนับสนุนการค้าเสรีระหว่างประเทศ อีกทั้งควรมีกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศน์ที่เอื้อแก่การเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMES) รวมถึงต้องมีแรงงานที่มีทักษะ
- การสนับสนุนกลุ่ม MSMEs ให้ปรับตัวสู่การวางเป้าหมายทางธุรกิจที่สอดคล้องกับหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance) จะทำให้ธุรกิจขนาดย่อมเหล่านี้มีแต้มต่อในการแข่งขันทางการค้าระยะยาว พร้อมสนับสนุนการก้าวเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล (Digitalization) ซึ่งจะเพิ่มโอกาสและความเท่าเทียมทางการค้าให้ธุรกิจขนาดย่อมได้ แต่การจะผลักดัน MSMEs ในการก้าวสู่การเป็นบริษัทที่มี ESG และธุรกิจดิจิทัล (Digitalization) ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีในการสอดรับ รวมถึงการกำหนดนโยบายและมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security) เพื่อป้องการการทุจริตบนโลกออนไลน์
- ทั้งนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโลโนยีและมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้าง Digital economy e-commerce ให้เกิดขึ้น
- นอกเหนือจากนี้ การพัฒนาทักษะแรงงานและการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ ในการดำเนินธุรกิจยังเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตเราอยากเห็นผู้หญิงก้าวขึ้นมามีบทบาททางสังคมมากยิ่งขึ้น ได้เห็นกลุ่มผู้หญิงในกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการในตลาดสูงอย่าง STEM (science-technology-engineering-mathematics) ด้วยเล็งเห็นว่าการพัฒนาความสามารถทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้หญิงจะช่วยแก้ปัญหาความยากจน และก่อให้เกิดการพัฒนาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยภาคธุรกิจควรร่วมกันหาทางแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านค่าแรงระหว่างเพศชายและเพศหญิงรวมถึงความไม่เท่าเทียมด้านตำแหน่งงานระดับสูง
ประเด็นที่สาม (3) ความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาค (regional partnership)
- ประเทศต่าง ๆ ควรกลับมาเคารพกฎระเบียบระหว่างประเทศ (International Rules) และสนับสนุนกลไกพหุภาคี (Multilateralism) เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของโลก เพราะหากเรายังเพิกเฉยกับสิ่งเหล่านี้ ในอนาคตเราต้องเผชิญผลกระทบต่างๆ เช่น วิกฤติอาหารและพลังงาน สงครามแบ่งแยกและความร้าวฉานในทั่วทุกภูมิภาค ดังนั้นเราต้องเผชิญหน้าสู้กับปัญหาและวิกฤตการณ์โลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ด้วยการร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือในกลุ่มสมาชิกและเชื่อมโยงไปยังความร่วมมือนอกกลุ่มสมาชิก เพื่อแก้ปัญหาความถดถอยทางเศรษฐกิจปี 2023-2024 (Economic Recession)
- ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อกำหนดนโยบายที่เอื้อให้ทุกเขตเศรษฐกิจสามารถก้าวข้ามปัญหาและความท้าทายต่างๆ ไปได้ เสริมสภาพคล่อง ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมสร้างความยืดหยุนและความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้
- ยิ่งไปกว่านั้นผู้นำยังได้พูดถึงเรื่องของการสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือในกลุ่ม ASEAN และเชื่อมโยงไปยังความร่วมมือนอกกลุ่ม ASEAN อีกด้วย
หัวข้อที่ 4: การสรุปว่าประเทศไทยได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC และ APEC CEO Summit 2022
- การประชุม APEC ครั้งนี้ ได้ส่งเสริมภาพลักษณ์และความเข้าใจในประเทศไทยอย่างมาก Soft Power ของไทยถูกถ่ายทอดไปยังต่างประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 5-6 แสนล้านบาท และทำให้เกิดผลประโยชน์สำคัญ 2 ประการคือ
1. ประการแรก – การท่องเที่ยว: เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยซึ่งน่าจะช่วยให้ไทยมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1-2 แสนคนโดยจะสร้างรายได้ให้ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องประมาณ 10,000 ล้านบาทในระยะสั้น
2. ประการที่สอง – โอกาสในการดึงนักลงทุนมาที่ไทย: ภาพลักษณ์และความเข้าใจที่มาขึ้นของนักลงทุนต่างประเทศที่เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG พลังงานยานยนต์ไฟฟ้า EV เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ เป็นต้นโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้ง่ายขึ้นในอนาคต
- ผลกระทบจากการลงทุน FDI 600,000 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปี ดังนี้
1. การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ ในช่วงการประชุม APEC 2022 ไทยและจีนเห็นพ้องกันในการเพิ่มพูนมูลค่า และอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกันในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จีน-ไทยจะใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งคาดว่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มขึ้นประมาณ ประมาณ 1-2 แสนล้านบาท
2. การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอารเบียและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ (GCC) ที่ประกอบด้วย ซาอุดิอาระเบีย คูเวต การ์ตา โอมาน บาเรนและยูเออี โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 12 อุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี เกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพและบริการ ในพื้นที่ EEC ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 1-3 แสนล้านบาท
3. การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG Economy ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานทดแทนที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดิอารเบีย ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท
4. การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล E-commerce และ Robot ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดิอารเบีย ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท
5. การลงทุนในธุรกิจบริการอื่นๆ เช่นการท่องเที่ยว การบริการสุขภาพและความงาม และโลจิสติกส์ ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดิอารเบีย ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท