เปิดศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งแรกของ กทม.
ในงานวันสถาปนาครบรอบ 8 ปี โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
วันพฤหัสที่ 3 ธันวาคม 2563, โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสถาปนา ครบรอบ 8 ปี โดยมีพล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยพญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร, นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์, พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ โดยนายแพทย์ศุภรัช สุวัฒนพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน, แพทย์หญิงประกายพรึก ทั่งทอง รองผู้อำนวยการ(ฝ่ายการแพทย์), นางสุขุมาล เนียมประดิษฐ์ หัวหน้าพยาบาล พร้อมคณะผู้บริหารและบุคลากรโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ให้การต้อนรับ
ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย ได้แก่
- การรับชมวีดีทัศน์โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
- ชมการแสดงจากบุคลากรโรงพยาบาลและชมรมผู้สูงอายุ
- พิธีมอบของที่ระลึกให้กับผู้มีอุปการคุณและบุคลากรดีเด่น
- พิธีเปิดศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric medical center) เพื่อดูแลเฉพาะด้านแก่ผู้สูงอายุ
- พิธีทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อจัดหางบประมาณในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์และบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนผู้มารับบริการ
สำหรับศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ได้มีสถาบันฝึกอบรมทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามหลักเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิต รวมถึงการฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์และเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
รวมทั้งการให้บริการประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี ได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ยุทธศาสตร์ “มหานครปลอดภัย” ให้ความสำคัญและสนับสนุนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุ
......................
***สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย
จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ พบว่าอยู่ในระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปี หรือมากกว่า) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1.21 ล้านคน ในปีพ.ศ.2503 ไปเป็น 4.5 – 5.7 ล้านคน ในปี พ.ศ.2543
โดยในปี พ.ศ.2552 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 63,389,730 คน มีประชากรผู้สูงอายุ 6,904,598 คน
โดยในเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนประชากร 5,710,883 คน มีประชากรผู้สูงอายุ 629,497 คน (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย,2552) ประมาณการผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 11.00
และในปี พ.ศ.2563 คาดว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคน ตามลำดับ
ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังนำประเทศไทยไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “ภาวะประชากรผู้สูงอายุ” (population aging) โดยสัดส่วนของบุคคลในวัยทำงานลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและสังคม
จากสภาพร่างกายและความเสื่อมตามวัย ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเรื้อรัง และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะทุพพลภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเรื้อรังหรือโรคไม่ติดต่อ ที่จำเป็นต้องการการดูแลบำบัดรักษาในระยะยาว
โดยพบว่าสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เบาหวาน โรคไต อัมพาต ปอดอักเสบ และอุบัติเหตุ ซึ่งมีสาเหตุจากพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต
โดยผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนการเจ็บป่วยของโรคเบาหวานและโรคหัวใจสูงกว่าภาคอื่นๆ (โครงการวิจัย การสำรวจและศึกษาภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ 4 ภาคของไทย,2549)
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าใด ก็จะมีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเตรียมการรับมือกับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข
โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มประชากรผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง โดยการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รวมถึงการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลเพื่อลดภาวะโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ
ตลอดจนการให้ความรู้เพื่อการป้องกันโรคซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี สอดคล้องกับมติองค์การสหประชาชาติในการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายที่ดีและมีความมั่นคง (Active Aging)
ซึ่งจะสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ ประกอบด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการคือ สุขภาพร่างกายที่ดี ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน และสังคม