ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าไทยในอนาคต
ต้องได้แรงหนุนจากรัฐ เพิ่มสถานีบริการและแข่งราคาได้
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 36" ร่วมกับ ดร. ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จากผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าบแรนด์ต่างๆ
ศิรวุฒิ ปัญญาทวีกูล ผู้ใช้รถยนต์ นิสสัน กล่าวว่า โดยส่วนตัวใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ค่อยประสบปัญหาเท่าไร เนื่องจากในแต่ละวันใช้เดินทางแค่ 50-60 กม. เท่านั้น การชาร์จแต่ละครั้งใช้เดินทางได้ถึง 2-3 วัน อีกทั้งหากจำเป็นต้องใช้เดินทางระยะทางไกล ทาง นิสสัน ได้กระจายสถานีชาร์จไปยังโชว์รูม นิสสัน จึงไม่มีปัญหาเรื่องสถานีชาร์จ หรือหากในอนาคตมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากขึ้น มองว่าสถานีอัดประจุไฟฟ้าควรที่จะต้องมีการขยายเพิ่มขึ้น เพราะหากมีไม่เพียงพอกับความต้องการอาจจะประสบปัญหาเรื่องสถานีชาร์จไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการชาร์จแบบ DC
พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้ใช้รถยนต์ บีเอมดับเบิลยู กล่าวว่า ตนเองไม่มีปัญหาเรื่องการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถชาร์จได้ในบ้าน การเดินทางในแต่ละครั้งที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่เดินทางไกล การชาร์จแต่ละครั้งจึงเพียงพอกับการเดินทาง แต่ในฐานะที่เป็นผู้บริหารพื้นที่อิมแพคท์ เมืองทองธานี จึงจำเป็นอย่างมาก ซึ่งในอดึตเคยเจรจากับผู้ติดตั้งสถานีชาร์จ แต่ติดปัญหาเรื่องการลงทุน ทำให้ยังไม่มีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ในอิมแพคท์ คาดว่าหากรถไฟฟ้ามีการขยายตัวมากขึ้นอาจจะต้องมีการเจรจาใหม่กับนักลงทุนใหม่
ณัฐ ศิริวิชัย ผู้ใช้รถยนต์ ฟอมม์ กล่าวว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับตนเองไม่เคยประสบปัญหา เนื่องจากศึกษาถึงตัวรถก่อนว่ามีความพร้อมแค่ไหนกับการเดินทางในแต่ละครั้ง และจะเลือกใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางระยะไม่ไกลเกินกว่าระยะแบทเตอรีจะรับรองได้ แต่โดยภาพรวมมองว่า รถไฟฟ้าเหมาะกับการใช้ในเมือง แต่ถ้าตราบใดหากสถานีอัดประจุไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการ การไฟฟ้าไม่มีการพัฒนา เกิดยาก
วรรณดิษย์ แว่นอินทร์ ผู้ใช้รถยนต์ เอมจี กล่าวว่า การเดินทางโดยใช้รถยนต์ไฟฟ้าหากเดินทางในระยะใกล้ๆ โดยระยะทางตามที่รถกำหนดไว้ถือว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นยานพาหนะที่เหมาะสมอย่างมาก แต่หากต้องเดินทางไกล อาจจะต้องมีการวางแผนและเตรียมพร้อมมากกว่านี้ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า แบบ DC มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยเรื่องเวลาในการชาร์จแต่ละครั้งโดยเฉพาะเวลาเดินทางไกลที่ไม่ต้องเสียเวลามากในการชาร์จ นอกจากนี้ มองว่ารถยนต์ไฟฟ้าหากผลิตออกมาแล้วผู้ใช้มีความสุขก็จะทำให้อนาคตของรถไฟฟ้าเติบโต แต่ถ้าผู้ใช้ไม่มีความสุข กาบอกต่อให้คนหันมาใช้เพิ่มขึ้นคงไม่เกิดอย่างแน่นอน ที่ผ่านมาเจ้าของบแรนด์รถยนต์ที่ผลิตออกมาจำหน่ายถือว่ามีส่วนผลักดันอย่างมาก เพราะได้ลงทุนและตอบสนองการบริการให้แก่ผู้ใช้อย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากจะร่วมพันธมิตรกับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแล้ว ยังมีแอพพลิเคชันที่จะแนะนำสถานีอัดประจุไฟฟ้าในจุดต่างๆ อีกด้วย
สุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร ผู้ใช้รถยนต์ ฮันเด กล่าวว่า ตนเองมีความพอใจกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก เพราะเตรียมการชาร์จเต็มที่ในการเดินทางแต่ละครั้ง หรือหากว่าต้องเดินทางไปสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะอาชีพทนายที่ต้องไปศาลในแต่ละแห่งมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่สามารถจอดชาร์จไฟได้อีกด้วย จึงไม่พบกับปัญหาเรื่องสถานีชาร์จ แต่โดยภาพรวมในประเทศไทยจะต้องพัฒนาอย่างมาก พร้อมการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อให้เกิดความพร้อมในหลายๆ ด้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าต้องแก้ไขในหลายจุดไม่อย่างนั้นโครงการรถไฟฟ้าถือว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร
อลิศา ทิพย์สุวรรณ ผู้แทนจาก EVAT Charging Consortium กล่าวว่า ในปัจจุบันสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่อยู่ส่วนของ EVAT มีอยู่ประมาณ 340 สถานี โดยในปีหน้าจะมีขยายเพิ่มขึ้นอีก 62 สถานีในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ซึ่งจำนวนสถานีที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ขับขี่ แต่นอกจากสถานีที่ EVAT ดูแลอยู่ก็ยังมีสถานีในส่วนของภาคเอกชนบริหารอีกเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการลงทุนในส่วนของสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้นในส่วนของเครื่องนั้นไม่ต้องลงทุนสูง เหมือนกับการลงทุนเรื่องของสายไฟที่จะเดินมาถึงจุดให้บริการ ซึ่งในบางครั้งผู้ลงทุนแต่ละรายต้องคำนวณการลงทุนในแต่ละพื้นที่ทำให้การขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอาจจะล่าช้า และไม่เพียงพอกับความต้องการ
สรุป ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ต้องขยายควบคู่ไปกับการขยายสถานีบริการ รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งความเป็นไปได้ในการพัฒนาจะต้องมีปัจจัยหลายอย่างเอื้ออำนวยเพื่อให้เติบโต โดยเฉพาะอัตราการจ่ายค่าบริการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงราคาแบทเตอรีที่มีราคาสูงในปัจจุบัน
ที่มา : https://www.motorexpo.co.th/news/3474