@ ลำดวนหวนหอมตระหลบ...กลิ่นอายอบสบนาสา
นึกถวิลกลิ่นบุหงา...รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง @
(บทเห่ชมไม้...พระราชนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์)
ที่มา : http://www.thaieditorial.com/
แป้งพวง : ถือเป็นเครื่องหอมที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะในกลุ่มของชาวไททรงดำ
แป้งพวง ก็คือ แป้งที่มีความงดงาม อ่อนหวาน ประณีต และมีกลิ่นหอมจรุงใจ ประดิดประดอย ดัดแปลง แป้งร่ำและน้ำปรุง ขึ้นมาใช้บูชาพระ หรือประดับผม แทนพวงดอกไม้ และยังให้กลิ่นหอมอ่อนๆ ยามเมื่อต้องลม เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของหญิงสาว
กรรมวิธีในการประดิษฐ์แป้งพวง ทำได้ง่ายๆ ดังนี้
1 อบร่ำ ด้วยการใช้แป้งหินอบควันเทียน กำยาน
2 ผสมผสานด้วยกลิ่นหอม จากดอกไม้นานาพันธุ์ น้ำอบไทย ผสมจนแป้งข้นหอมกรุ่น
3 เจือด้วยน้ำจากเม็ดแมงลัก ลงในแป้งที่ผสมกลิ่นหอมแล้ว
4 ใส่แป้งที่ผสมแล้วลงในกรวยใบตอง เพื่อเตรียมหยอด
5 ขึงเส้นด้ายให้ตึง บนใบตองสด หรือใบตองแห้งที่มีลักษณะเรียบๆ
6 หยอดเม็ดแป้งลงบนเส้นด้ายที่ขึงเอาไว้ จากนั้นทิ้งไว้ให้แป้งแห้งดี จึงยกเส้นด้ายขึ้น เม็ดแป้งหอมก็จะติดกับเส้นด้ายขึ้นมา
ทำซ้ำหลายๆ เส้น แล้วนำมาเข้าช่อจะได้พวงมาลัยดอกไม้ ที่มีกลิ่นหอมไม่แพ้ดอกไม้สด หรือจะดัดแปลงมาเป็นปิ่นปักผม ก็จะทำให้มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ติดตัวตลอดเวลา
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
บุหงารำไป..ชื่นใจวันสงกรานต์
โดย พาณี - ดร.นาถ พันธุมนาวิน
ที่มา : http://www.ku.ac.th/
ความหอม เป็นความรู้สึกสุนทรีอย่างหนึ่งของมนุษย์ ทีมีมาแต่โบราณกาลหลาย เชื้อชาติยกย่องความเห็นเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์ จึงนำมาใช้ในการบวงสรวงเทพเจ้าสำหรับเครื่องหอมไทยมีใช้มาแต่โบราณกาลจากคำจารึกในไตรภูมิพระร่วงเข้าใจว่าเริ่มมีใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5
แต่ปัจจุบันนี้คนไทยหันไปนิยมใช้น้ำหอมและ ออดิโคโลญจน์จากต่างประเทศ ทำให้เครื่องหอมไทยเสื่อมความนิยมลงไป แต่ก็ยังมีใช้บ้าง
เช่น การใช้ "แป้งกระแจะ" ในงานราชพิธีงานมงคล งานพิธีการ
และงานรื่นเริงในวาระสำคัญ อาทิ การเจิมเสาหลักเมืองประจำจังหวัดต่างๆ เจิมแผ่นป้ายศิลาฤกษ์ เจิมคู่บ่าวสาว เจิมบ้านใหม่
และการเจิมพาหนะต่างๆ อาทิ รถยนต์ เครื่องบิน เรือ
หรือการใช้ "น้ำอบไทย" สรงน้ำพระรดน้ำผู้ใหญ่ ผสมน้ำอาบ หรือทาตัวหลังการอาบน้ำให้ เนี้อตัวมีกลิ่นหอมชื่นใจ
นอกจากนี้ยังนำเครื่องหอมไทยมาประกอบการทำบุหงาสด บุหงารำไป สำหรับของขวัญ-ของชำร่วยในโอกาสต่างๆได้อีก เช่น ของชำร่วยในวันมงคลสมรส ทำบุญวันเกิด แซยิด เป็นต้น
เครื่องหอมไทย ตามความหมายของ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2535) เป็นคำสมาส 2 คำ คือคำว่า "เครื่อง" และ คำว่า"หอม"
เครื่อง : หมายถึง สิ่ง สิ่งของ สิ่งสำหรับประกอบกัน หรือเป็นพวกเดียวกัน
หอม : แปลว่า ได้รับกลิ่นดีเป็นที่พอใจ
ดังนั้น คำว่า เครื่องหอม หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่มีกลิ่นดี หรือมีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นที่น่าพอใจ
เครื่องหอมไทย ถือเป็น ภูมิปัญญาของคนไทยที่อนุชนรุ่นหลังควรจะสืบสานต่อและรณรงค์ให้เกิดความนิยมใช้ในหมู่คนไทย นอกจากนี้ควรจะมีการพัฒนา รูปแบบ และ ขั้นตอนการทำให้เหมาะสม และทันสมัยเพื่อเป็นการสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของชาติไทย สืบต่อไป
แหล่งที่มาเครื่องหอม
เครื่องหอม ได้มาจาก 3 แหล่งคือ
1.เครื่องหอมที่ได้จากพืช
เนื่องจากเมืองไทยอยู่ในเขตร้อนและชุ่มชื้น และมีพรรณไม้หลายชนิที่มีกลิ่นหอม และสามารถนำส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชได้ เช่น
1.1 จากส่วนของดอก เช่น มะละ มะลิลา (มะลิซ้อนไม่นิยมนำมาใช้ในงานทำเครื่องหอม)กุหลาบ(โดยเฉพาะกุหลาบมอญนิยมใช้มาก) พิกุล กระดังงาไทย พุทธชาด จัน กะพ้อ ลำเจียก จำปี จำปา ฯลฯ
1.2 จากส่วนของใบ เช่น เตยหอม เนียม มะกรูด ส้ม ตะไคร้หอม สะระแหน่ โหระพา กระเพรา ฯลฯ
1.3 จากส่วนของลำต้น โดยเฉพาะส่วนของ เปลือก เนื้อไม้ หรือแก่นไม้ เช่น จันทร์เทศ ผิวมะกรูด กฤษณา แก่นจันทน์ หญ้าฝรั่น ฯลฯ
1.4 จากยางไม้ เช่น กำยาน หนาด กฤษณา ฯลฯ
1.5 จากเปลือก เช่น อบเชย ชะลูด ฯลฯ
1.6 จากผล เช่น ลูกจันทน์เทศ กานพลู ฯลฯ
1.7 จากเมล็ด เช่น ลูกจันทน์เทศ พริกไทยดำ ฯลฯ
2.เครื่องหอมที่ได้จากสัตว์
เราจะนำเครื่องหอมที่ได้จากสัตว์มาใช้ร่วมกับเครื่องหอมที่ได้จากพืชแต่จะใช้จำนวนน้อยกว่า เครื่องหอมจากพืช เพราะเครื่องหอมจากสัตว์จะเป็นตัวจับกลิ่น ทำให้ความหอมของกลิ่นหอมทนทาน จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาก
เครื่องหอมที่ได้จากสัตว์ มักจะได้จากต่อมในตัวสัตว์ อาทิ ต่อมที่อยู่บริเวณใกล้กับอวัยวะเพศตัวผู้ของชะมดเช็ด น้ำมันหอมจากต่อมน้ำมันในตัวบีเวอร์ น้ำมันหอมที่ได้จากมูลปลาวาฬ เรียกว่า "อำพัน"(เป็นของเสียที่ออกมาจากสำไส้ปลาวาฬ ถ้าถูกกับอากาศจะแข็งตัว ลอยอยู่บนผิวน้ำในทะเล) ซึ่งมีราคาแพง โดยเฉพาะอำพันสีเทาจะมีกลิ่นหอมมาก และมีคุณภาพดีที่สุด แต่การนำเครื่องหอมที่ได้จากสัตว์มาใช้นั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที เหมือนเครื่องหอมที่ได้จากพืช โดยเฉพาะเครื่องหอมจากชะมดเช็ด พี่พบได้ในประเทศไทยนั้น ก่อนจะนำมาใช้ต้องทำการ "ฆ่าชะมดเช็ด" เสียก่อน
วิธีฆ่าชะมดเช็ด ชะมดเช็ดเป็นเครื่องหอมที่ได้มาจากต่อมใกล้อวัยวะเพศตัวผู้ของตัวชะมด ต่อมนี้จะมีกลิ่นสาบ ถ้านำมาใช้เลยจะไม่หอม จึงต้องผ่านกรรมวิธีทำให้หอมเสียก่อน ซึ่งเรียกว่า "การฆ่าชะมด" ทำโดยนำใบพลูสด (ใบพลูที่เคี้ยวกับหมาก) มาพับเป็นกรวย เอาด้านหลังใบให้อยู่ในกรวย ใช้ไม้เล็กๆ เช่น ไม้ก้านธูป หรือไม้เสียบลูกชิ้นปิ้ง ฯลฯ
ตักชะมด ซึ่งมีลักษณะข้นเหลวคล้ายครีม ใช้ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว วางบนริมใบพลู บีบ น้ำมะกรูดลงไปบนก้อนชะมดพอท่วม จุดเทียนไข นำใบพลูที่มีชะมด และน้ำมะกรูดไปลนบนเปลวเทียน โดยไม่ให้ถูกเปลวไฟโดยตรง พอให้ได้ไอร้อน จนชะมดและน้ำมะกรูดเดือดเข้ากันดี เป็นน้ำมันลอยขึ้นมานำน้ำส่วนนี้ไปใช้งาน
ส่วนที่ตกตะกอนอยู่บนในใบพลทิ้งไปไม่นำมาใช้ ชะมดเช็ดนี้มักนำมาใช้กับเครื่องหอมไทย เช่น การทำน้ำอบไทย แป้งร่ำ เป็นต้น
3. เครื่องหอมสังเคราะห์
เป็นเครื่องหอมที่มนุษย์ปรุงแต่งจากสารเคมี ทำเป็นกลิ่นเลียนแบบ กลิ่นธรรมชาติ เช่น กลิ่นกุหลาบ กลิ่นมะลิ กลิ่นกระดังงา เป็นต้น
เครื่องหอมไทยชุดบุหงาสด
บุหงาสด เป็นเครื่องหอมไทยที่ทำได้ง่ายใช้เวลารวดเร็วและนิยมทำในช่วงที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง บุหงาสดเหมาะสำหรับใช้ในงานมงคลต่างๆ อาทิ เป็นของชำร่วยงานแต่งงาน ของชำร่วยงานวันเกิด ของที่ระลึกในโอกาสมงคลต่างๆ ฯลฯ โดยเฉพาะการทำบุหงาสดมักจะบรรจุในผ้าโปร่ง หรือภาชนะจักสาน เพื่อไม่ให้มองเห็นสีสันของกลีบดอกไม้ชนิดต่างๆที่นำมาปรุงด้วยกันมักมีสีสันตัดกันสวยงาม และมีกลิ่นหอมเย็นๆอ่อนๆชื่นใจ
วัสดุ - อุปกรณ์
1.ดอกไม้สดชนิดต่างๆปริมาณเท่าๆกัน อาทิ จำปา (ไม่นิยมใช้จำปีเพราะเมื่อแห้งแล้วจะออกเปรี้ยว) พิกุลสด เตยหอม กระดังงาไทย ชมมะนาด มะลิ พุทธชาด บานไม่รู้โรย (บางท่านเรียก รักไม่รู้โรย) ขจร(สลิด) กุหลาบ รักตุ้ม บางท่านเรียก รักเปลือก (เป็นดอกรักที่ยังไม่แกะเปลือกออก ) รักตุ้มนี้ จะยังมีความสดมากกว่าดอกรักที่ซื้อขายทั่วไปในตลาดซึ่งได้แกะเปลือกออกแล้ว (สำหรับดอกรักที่แกะเปลือกแล้วที่เห็นอยู่ทั่วไปในตลาดนั้น เรียก "รักแก้ว" สามารถเก็บไว้ได้เพียง 1- 2 คืน กลีบก็จะเหี่ยว) และดอกไม้ชนิดอื่นๆ ที่มี สีสันสวยหรือกลิ่นหอม
ดอกไม้สดที่จะนำมาทำเป็นบุหงาสดนี้นควรพิจารณาดอกไม้ที่มีสีสวยกลิ่นหอม หาได้ง่ายในขณะนั้นและมีราคาไม่แพง แต่บางฤดูจะมีดอกไม้น้อยชนิดก็สามารถทำบุหงาสดได้แต่ปริมาณที่ใช้ปริมาณเท่าๆกัน ตามที่ กล่าวข้างต้น โดยให้มีประมาณเพียงพอกับการใช้งาน
ในบางครั้งการทำบุหงาสด อาจจะใช้ดอกไม้ เพียงชนิดเดียวก็ได้ แต่ไม่นิยมเนื่องจาก จะได้บุหงาสดที่มีสีเดียว ทำให้สีและรูปร่างของกลีบดอกไม้ไม่หลากแบบ ดูไม่สวยงาม
2.น้ำอบไทย 1/2 ถ้วยตวงหรือประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ หรือเตรียมให้พอกับปริมาณของดอกไม้
3.พิมเสน ขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ
4.ชามอ่างก้นลึกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-12 นิ้ว ความสูง 3-4 นิ้ว
5.บรรจุภัณฑ์ สำหรับบรรจุบุหงาสด อาทิ ผ้าโปร่ง เครื่องจักสาน ซึ่งมีการออกแบบเป็นรูปร่าง ต่างๆ ให้ทันต่อสมัยนิยม
วิธีทำ : ก่อนนำดอกไม้มาทำบุหงาสด ควรล้างดอกไม้ด้วยน้ำสะอาดก่อน
1. วิธีการเตรียมดอกไม้สำหรับทำบุหงาสด
1.1 นำดอกไม้มาปลิดเอาแต่กลีบดอก(ส่วนของก้านดอกทิ้งไป) ได้แก่ กุหลาบ จำปา พุทธชาด
1.2 ขจร(ดอกสลิด) ให้เด็ดเอาแต่ดอกส่วนของก้านทิ้งไป
1.3 ดอกรัก ให้แกะเปลือกทิ้ง แล้วฉีกเอากลีบดอกรักแต่ละกลีบ รวมทั้งไส้ดอกรักก็นำมาใช้ด้วย
1.4 พิกุล ใช้ทั้งดอก
1.5 มะลิ เด็ดกลีบเลี้ยงทิ้งไป นำดอกมะลิที่ได้มาล้างน้ำ แล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ทั้งนี้ เพื่อกำจัดยาฆ่าแมลง หรือสารเคมี ที่ติดมา
1.6 กระดังงา ใช้เทียนใขลนที่ขั้วดอกแล้วเด็ดเอากลีบดอกออกมานำแต่ละกลีบมาฉีกตามทางยาวให้เป็นชิ้นเล็กๆ การที่นำเทียนไขที่ขั้วดอก เพราะ ตรงขั้วดอกมีต่อมน้ำหอมเมื่อลนแล้วจะทำให้ ดอกมีกลิ่นหอมยิ่งขึ้น
1.7 เตยหอม หั่นให้ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร
1.8 บานไม่รู้โรย เด็ดแต่ละกลีบดอกหรือจะใช้มีหั่นตามขวางดอก นำดอกไม้ที่เตรียมไว้แล้วทุกชนิดคลุกเคล้าให้เข้ากันตามปริมาณที่ต้องการ
2.นำพิมเสนขนาดหัวไม้ขีดไฟ บดให้ละเอียด โรยลงบนดอกไม้คลุกเคล้าให้ทั่วการใส่พิมเสนเพื่อช่วยให้มีกลิ่นสดชื่นโล่งจมูกซึ่งในทางสมุนไพรถื่อว่าพิมเสนช่วยให้การเต้นของหัวใจดีขึ้น เมื่อสูดดมแล้วจะรู้สึกโล่งในอก
3.เขย่าขวดน้ำอบไทย เพื่อให้แป้งที่นอนก้อนและตัวน้ำอบเข้ากันดีเสียก่อนแล้วจึงเทลงบนดอกไม้สด ใช้น้ำอบไทยประมาณ ? ถ้วยตวง หรือมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของดอกไม้
4.คลุกเคล้าเบาๆให้เข้ากันดี
เมื่อบรรจุบุหงาสดในวัสดุที่ตกแต่งให้สวยงามแล้วควรเก็บไว้ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี เมื่อเก็บไว้ได้นานวันขึ้น บุหงาสดจะเปลี่ยนไปเป็นบุหงาแห้ง โดยไม่มีกลิ่นเน่า หรือกลิ่นอับและกลีบดอกจะยังมีสีสดไม่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
>>>>>>>>>>>>>>
ที่มา : เปิดตำรับวัง ภูมิปัญญาเครื่องหอม "บุหงารำไป"
Published on Nov 12, 2015
กลิ่นหอมของดอกไม้แห้งที่มักนิยมใช้ในงานมงคล ไม่เพียงสีสันสวยงาม กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์จากดอกไม้ ยังแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาของคนในอดีต อิ่มมนต์รสวันนี้ พาไปตามรอยกลิ่นหอมของ "บุหงารำไป"
ที่มา : สารคดีวิถีไทย "บุหงาสด" ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมไทย
Published on Mar 14, 2016
@ ลำดวนหวนหอมตระหลบ กลิ่นอายอบสบนาสา
นึกถวิลกลิ่นบุหงา รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง
(บทเห่ชมไม้...พระราชนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์)
จากบทกลอนที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่าเครื่องหอมอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ผลิตภัณฑ์จากเครื่องหอมมีมากมาย เช่น น้ำอบ น้ำปรุง ธูป เทียนหอม บุหงาแห้ง บุหงาสด เป็นต้น
>>>>>>>>>>>>>>>>>>
บทความที่เกี่ยวข้อง
แป้งพวงล้ำค่า...ภูมิปัญญาของไทย Posted by รักนันท์
มาลัยแป้งพวง "สัตตมาลี" แทนมาลัยดอกไม้สด สืบทอดภูมิปัญญาไทย โดย MGR Online