Urban Design by Guru :
แนวคิดปรับปรุงการสัญจรบริเวณซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน
โดย ฉันทฤทธิ์ วิโรจน์ศิริ

บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อต้นปี 2554 และเคยนำเสนอมาแล้วก่อนหน้านั้นสักสองปีบนหน้า Soi Aree, Paholyothin Road : A Case Study for Bicycle Community
เอามาปัดฝุ่นเสนอให้ลองช่วยกันดูเป็นตัวอย่างของการจัดระบบการใช้จักรยานในย่านของเมืองชั้นใน ที่ปัจจุบันถนนถูกครอบครองโดยรถยนต์ ถ้าสามารถสร้างให้เกิดเป็นย่านของการใช้จักรยาน (Bicycle Neighborhood) ที่ค่อยๆขยายโครงข่ายออกไปครอบคลุมพื้นที่กว้างมากขึ้น ต่อไปเราก็อาจเห็นการใช้จักรยานเกิดขึ้นได้ในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครแห่งนี้
ขออนุญาต tag ไปยังหลายๆท่านที่ผมบังเอิญรู้มาว่ามีหรือเคยมีนิวาสถานหรือมีสถานที่ทำงานอยู่แถบบริเวณนี้ และอาจสนใจช่วยกันสนับสนุนออกความคิดแก้ปัญหาของเมืองในบริเวณนี้ได้บ้าง เพราะบ้านเมืองนี้เป็นของเราทุกคน อย่างไรก็ตามหากเป็นการรบกวนต่อผู้ใด ผมก็ขออภัยไว้ในที่นี้ด้วย
>>>>>>

บริเวณซอยอารีย์ (พหลโยธินซอย 7) ถนนพหลโยธิน มีการพัฒนาอย่างค่อนข้างรวดเร็ว และเกิดปัญหาการจราจรคับคั่งที่ตามมาจากกิจกรรมใหม่ๆที่เพิ่มขึ้นอย่าง คอนโดราคาแพง ร้านอาหาร Hip สำหรับยัปปี้หนุ่มสาว ที่บริเวณปลายซอยต่อไปยังถนนพระรามที่ 6 ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายหน่วย จุดที่โกลาหลที่สุดคือบริเวณปากซอยอารีย์ (บริเวณปัญหา 1) ที่มีสถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ที่มีรถตู้และแท็กซี่มาคอยดักผู้โดยสาร คิวมอเตอร์ไซค์และสามล้อตุ๊กๆ และทางเท้าแคบๆที่กลายเป็นชอปปิ้งสตรีท ผสมกับพฤติกรรมผู้ใช้รถและคู่รักเดินถนนบางคนที่เห็นตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลเดินจูงมือขวางถนนโดยไม่สนใจใครอื่น และตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่แค่พอผ่านไปวันหนึ่งๆ อาจเพราะเกรงรัศมียานพาหนะราคาแพงที่กรีดกรายผ่านและบางทีจอดรอซื้อของอย่างไม่สนใจรถอื่นที่ติดกันเป็นแถวอยู่ข้างหลัง การก่อสร้างที่มีมาตลอดในซอยนี้ก็มีส่วนทำให้การจราจรเป็นจลาจล
>>>>>>
ที่แยกปากซอยอารีย์ต่อกับถนนพหลโยธินเป็นจุดจำกัดการเลี้ยวเข้าโดยในช่วงรถมากต้องไปเลี้ยวกลับรถที่หน้าธนาคารเอ็กซิม และไม่ให้เลี้ยวขวาออกต้องไปกลับรถที่หน้าธนาคารกสิกรไทย ซึ่งดูคล้ายกับไปเน้นบริการให้ธนาคารซึ่งคงรวยเลยมีรถเลี้ยวเข้าออกมากกว่า ทั้งที่จุดกลับรถอีกที่หนึ่งที่แยกซอยสายลมก็อยู่ถัดไปไม่ไกล
>>>>>>>>>>>>
ที่กลางซอยอารีย์มีแยกอารีย์ 4 ไปทางเหนือมีทางออกไปต่อกับซอยพหลโยธิน 9 และ 11 ซึ่งสามารถลัดออกไปยังถนนพระรามที่ 6 และถนนประดิพัทธ์ได้ แต่คนที่เข้ามาในซอยอารีย์นี้มักไม่ค่อยชอบใช้ ชอบออกมาหาความวุ่นวายคับคั่งตรงปากซอยอารีย์มากกว่า ซอยอารีย์ 4 ทางทิศใต้มีเขตทางกว้างที่สุดเทียบกับซอยอื่น แต่ถูกปิดปลายไว้ด้วยคอนโดมีเนียมที่ค่อนข้างถือตัว
ซอยอารีย์นี้มีทางแยก 1, 2, 3 และ 5 ต่อเชื่อมไปยังซอยอารีย์สัมพันธ์ที่ทำให้ผู้ไม่คุ้นเคยพื้นที่มักต้องหลงเข้ามาติดกับจราจรโดยไม่จำเป็นอยู่เสมอ ซอยนี้มีบริเวณปัญหาอยู่ที่ช่วงถนนแคบลงที่สุดรั้วสถานที่ราชการโอ่อ่าของกรมประชาสัมพันธ์ ออกมาถึงถนนพหลโยธิน (บริเวณปัญหาที่ 2) ในเวลาเร่งด่วนจะพบรถจำนวนไม่น้อยจอดพ่นควันพิษใส่กันรอเวลาเป็นอิสระออกไปจากซอกแคบนี้ ในภาพเส้นสีแดงแสดงการเดินรถสองทาง และสีน้ำเงินแสดงการเดินรถทางเดียวในซอย 1,2,3 และ 5 ยกเว้นซอย 4 ซึ่งเป็นซอยตัน ซอยอารีย์สัมพันธ์นี้ยังเปลี่ยนชื่อเป็นซอยราชครูเมื่อมาชนกับถนนพหลโยธิน และมีชื่อเป็นพระรามที่ 6 ซอย 30 จากด้านถนนพระรามที่ 6 ซอยนี้จึงเป็นซอยที่มี 3 ชื่อไว้ล่อให้คนหลง เพราะไม่มีซอยอารีย์สัมพันธ์จากถนนพหลโยธิน และจากถนนพระรามที่ 6 มีชื่อ”อารีย์สัมพันธ์”เล็กๆแทบมองไม่เห็นแอบอยู่ใต้ป้ายถนนพระรามที่ 6 ซอย 30
>>>>>>>>

ทางเท้าด้านทิศใต้ของซอยอารีย์นี้ค่อนข้างแคบและมีอุปสรรคหลายอย่างติดตั้งไว้เกะกะกีดขวางการสัญจร เช่นตู้ไปรษณีย์ขนาดใหญ่ที่ปากแยกซอย 4 ซึ่งในสภาวะการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันน่าจะใช้เก็บจดหมายที่มีคนส่งถึงกันได้ทั้งปี ตู้โทรศัพท์ที่เสียอยู่ตลอดเวลา และการยกขอบบริเวณระยะร่นของอาคารให้สูงกว่าทางเท้าข้างเคียง
>>>>>>>>>>

อีกบริเวณปัญหาที่ 3 อยู่ที่ปลายซอยอารีย์ซึ่งผมอนุมานว่าสิ้นสุดลงแถวหน้าพื้นที่ส่วนราชการอันได้แก่ กรมสรรพากรที่มีการออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าชื่นชม สมกับเป็นผู้จัดเก็บรายได้ให้แก่รัฐบาล ต่อไปเป็นกระทรวงทรัพยากรฯและหน่วยงานที่วางตัวอยู่อย่างค่อนข้างถ่อมตัวคล้ายเกรงใจผู้หาเงินมาใส่กระเป๋าของชาติ และกรมประชาสัมพันธ์ผู้ซึ่งดูจะชอบการโฆษณาไปยังที่ไกลในราชอาณาจักร แต่ไม่โปรดการวิสาสะสุงสิงกับประชาชนที่ผ่านไปมาด้วยการยกขอบกั้นรั้วบริเวณไว้เป็นเอกเทศ บริเวณปัญหาที่ 3 นี้ผมเคยถ่ายภาพมาให้ดูกันไว้ในอัลบั้ม “BKK Sidewalk”
http://www.facebook.com/media/set/?set=a.139811009392769.15066.100000916116636&l=60d0dc26c0
>>>>>>>>>>>>

ในภาพนี้ เป็นข้อเสนอแนะปรับเส้นทางการเดินรถเพียงเล็กน้อยที่อาจช่วยให้บริเวณนี้ไม่โกลาหลวุ่นวายอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งอาจดูศิวิไลซ์ขึ้นด้วยที่บริเวณปากซอยอารีย์ ดังที่อาจารย์เทิดเกียรติ ศักดิ์คำดวงก็ได้เคยเสนอให้ขอแบ่งพื้นที่ผิวจราจรของถนนมาให้แก่กิจกรรมคนเดินและการเปลี่ยน Traffic Modal รวมทั้งแผงลอยธุรกิจการค้าของพ่อค้าแม่ขาย (ที่ส่วนใหญ่น่าจะรวยมากกว่าจน) โดยจัดเดินรถทางเดียวบริเวณปากซอยพหลโยธิน 5 และ 7 และผันรถจากถนนพระรามที่ 6 ที่จะไปพหลโยธินให้ไปออกทางซอยอารีย์ หรือแบ่งไปออกซอยพหลโยธิน 9 และ 11 ซึ่งสามารถเป็นทางเลือกให้รถที่จะเข้ามาในบริเวณซอยอารีย์อีกด้วย รถที่ไม่ต้องสวนกันบนทางแคบของซอยอารีสัมพันธ์ต่อราชครูก็จะเดินได้สะดวกขึ้น รถที่จะมาซอยอารีย์จากสะพานควายก็มาเลี้ยวเข้าที่แยกราชครูนี้เช่นเดียวกับที่มาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณปากซอยอารีย์ (พหลโยธิน 7) มาจนถึงซอยอารีย์ 3 ที่มีรถเดินทางเดียวก็จะสามารถจัดให้รถจอดฝั่งด้านเหนือของถนน และใช้ที่จอดรถเพิ่มเติมในถนนซอย ด้านทิศใต้ของซอยอารีย์จะสามารถขยายพื้นที่กิจกรรมให้คนเดินจับจ่ายซื้อของออกมาได้อีกประมาณ 2-3 เมตร และยังสามารถเชื่อมเข้ามาในถนนซอยและที่ว่างข้างอาคารปียวรรณที่ถัดออกมาเป็นป้ายรถประจำทางและบันไดขึ้น-ลงรถไฟฟ้า
>>>>>>>>>>>
ย่านซอยอารีย์เป็นพื้นที่ขนาดประมาณ 1.5 x 1.5 กิโลเมตร จากด้านทิศตะวันออกคือแนวถนนพหลโยธิน ไปทางทิศตะวันตกข้ามถนนพระราม 6ไปจรดแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือและรถไฟฟ้าสายสีแดง ด้านทิศใต้จากซอยพหลโยธิน 5 ไปถึงถนนประดิพัทธ์ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างแขวงสามเสนในและแขวงถนนนครไชยศรี เขตพญาไท
บริเวณปากซอยอารีย์ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส มีลักษณะเป็นศูนย์กลางของกิจกรรม และมีความคับคั่งมากกว่าส่วนอื่น
ตำแหน่งของสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงยังไม่ได้รับการกำหนดชัดเจนนัก(ยังอยู่ระหว่างสืบค้นข้อมูล) แต่เห็นได้ว่าหากเกิดขึ้นก็อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อย่านที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟ ซึ่งควรพิจารณาความเชื่อมโยงเข้ามาสู่ย่านซอยอารีย์ โดยข้ามผ่านถนนพระราม 6 ซึ่งมีทางด่วนพาดอยู่เหนือแนวคลองประปา
>>>>>>>>
ย่านซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน เดิมเป็นย่านที่อยู่อาศัยชานเมืองที่เกิดขึ้นเนื่องจากการตัดถนนพหลโยธินออกไปสู่ภูมิภาคด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ต่อมาเมื่อเมืองมีการขยายตัวมากขึ้น บริเวณนี้ได้กลายมาเป็นย่านที่มีความเจริญมากขึ้นจนนับเป็นย่านกลางเมืองในระยะเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการหลายแห่งคือ กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสรรพากรและกรมประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานเขตพญาไท สำนักงานคณะกรรมการการสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานธนาคารและห้างร้านธุรกิจต่างๆ โรงพยาบาลและโรงเรียน ฯลฯ การสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวทำให้เกิดคอนโดมีเนียมขึ้นหลายอาคารในบริเวณ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการขยายเส้นทางด้านทิศเหนือออกไปถึงคูคต ลำลูกกา ส่วนด้านทิศใต้ขณะนี้ไปได้ถึงบางปูแล้ว
ในอนาคตยังจะมีรถไฟฟ้าสายสีแดงผ่านทางด้านทิศตะวันตกซึ่งจะไปเชื่อมกับรถแอร์พอร์ทลิงค์ไปสนามบินสุวรรณภูมิ และต่อไปในระยะยาวจะไปได้ถึงมหาชัย สมุทรสาคร
แม้บริเวณนี้จะดูคับคั่งแออัดในเวลากลางวันช่วงเวลาเร่งด่วน แต่ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยต่อตารางกิโลเมตรที่คำนวณได้จากทะเบียนสำมะโนครัวยังมีอยู่เพียงประมาณ 10,200 คน เท่านั้น ซึ่งแสดงว่าข้าราชการและพนักงานจำนวนมากของหลายหน่วยงานและธุรกิจในบริเวณนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้เดินทาง (Commuters) เข้ามาสู่พื้นที่ รวมทั้งการเดินทางตัดผ่านเข้าออกระหว่างถนนพระราม 6 และถนนพหลโยธิน
>>>>>>>>

การให้รถเดินทางเดียวบนซอยอารีย์จากปากซอยแยกที่ 3 มาถึงปากซอยที่ตัดกับถนนพหลโยธิน นอกจากจะเพิ่มที่จอดรถที่เป็นระเบียบมากขึ้นทางด้านทิศเหนือของถนน ยังอำนวยให้เกิดทางจักรยานที่ใช้การทาสีพื้นถนนให้แยกจากผิวจราจรของรถยนต์ แต่ในกรณีจำเป็น เช่น เกิดมีรถเสียขวางช่องจราจร ก็ยังอาจยอมให้รถเข้ามาใช้พื้นที่ได้บ้างด้วยความระมัดระวัง เพราะรถในซอยนี้ปัจจุบันก็ติดขัดกันอยู่เป็นประจำ ไม่สามารถวิ่งเร็วเกินกว่า 15-20 กม./ชม. ได้อยู่แล้ว เวลามีรถเข้าออกจากที่จอดโดยขนานกับทางเท้าก็จะติดกันโกลาหลไปทั้งซอย ผิวพื้นถัดไปที่ขยายจากทางเท้าแสนแคบของเดิมก็จะช่วยให้พ่อค้าแม่ขายมีพื้นที่ประกอบการค้ามากขึ้น โดยคนเดินถนนก็จะมีที่เดินได้สะดวกขึ้นไม่ต้องเบียดเสียดยัดเยียดกันแบบปัจจุบัน และบนพื้นที่ส่วนนี้สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาต้องถูกตัดยอดเพราะสูงขึ้นไปชนกับสายไฟฟ้า ซึ่งในภาพแสดงเป็นต้น Eucalyptus citriodora ซึ่งโตได้เร็ว ทนแล้ง และมีรูปทรงสูงชะลูด กิ่งก้านโปร่ง หรืออาจใช้ต้นยางนาซึ่งโตได้เร็วพอสมควรและจะกลายเป็นแนวภูมิทัศน์ถนนที่ร่มรื่นสง่างาม อีกตัวเลือกหนึ่งคือต้นประดู่ ด้านทิศเหนือของถนนซึ่งทางเท้ามีขนาดกว้างกว่าก็สามารถปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาคู่ขนานกันไป ซึ่งจะเพิ่มคุณภาพภูมิทัศน์ให้แก่ถนนซอยอารีย์นี้ให้เป็นย่านที่น่าอยู่อาศัยน่ามาประกอบกิจกรรมมากขึ้น
>>>>>>>>>>>
<<<<<<<<<<<<
Pracob Cooparat
ผมขอแสดงความคิดเห็นใน 2 สถานะ คือ การเป็นคนที่อยู่ในย่านนี้มากว่า 40 ปี และสอง ในฐานะเป็นคนที่สนใจระบบขนส่งทางเลือก สนใจในเรื่อง การเดิน การขี่จักรยาน รถสาธารณะ และการขนส่งมวลขนที่ใช้ระบบไฟฟ้า
ชุมชนย่านซอยอารีย์ หากนับระยะทางภายในรัศมี 2 กม. จากสถานี Ari BTS ย่านนี้มีคนหนาแน่น บ้านผมอยู่ห่างจากสถานี 1,2 กม. จากสถานี หากใช้การขนส่งสาธารณะ ดังเช่นรถตุ๊กตุ๊ก ต้องจ่ายเที่ยวละ 30 บาท ไปและกลับต่อวันเท่ากับ 60 บาท หากผมขี่จักรยานไปทำธุระแถวปากซอย มีที่จอดรถจักรยานให้ผม ผมประหยัดไปได้แล้ว 60 บาท คนแบบผมมีอยู่มาก
การทำที่จอดรถจักรยานระดับจุดละ 20-100 คัน ตามที่ต่างๆในละแวกนี้จะช่วยได้มาก
มีบางบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นมาก เช่นปากซอยอารีย์ ซอยพหลโยธิน 1 แน่นชนิดขยับไม่ได้ในช่วง Rush hours ทางแก้ปัญหาอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องส่งเสริมให้คนเลิกเอารถออกจากบ้าน ให้ใช้การเดินและการขี่จักรยานแทน (Walking and biking alternatives) ขณะนี้ที่ผมทำได้ คือการขี่จักรยานเพื่อสันทนาการและการออกกำลังกาย โดยขี่ในช่วงดึก เขาปิดร้านแล้ว
- [ ] การปรับแก้ระบบจราจรเพื่อให้มีการใช้ระบบ One Way กระทำได้ แต่ต้องมีพลังทางการเมือง เคลื่อนไหวโดยผ่านเขตพญาไทและกทม. ทำได้ครับ แต่ต้องเคลื่อนไหว ต้องมีการแสวงหาพันธมิตร หรือ Stakeholders เช่นร้านขายจักรยาน ธนาคาร ร้านค้าที่คนสามารถเดินทางมาใช้บริกการของพวกเขาได้ในบริเวณนี้ ซึ่งอาจต้องจัดการเสวนากับคนในท้องที่กลุ่มหนึ่งเสียก่อน
- [ ] ช่องทางการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ Social media อย่าง Facebook รวมทั้งการใช้ Newsletter เสียบตามตู้จดหมายของบ้าน Apartments, Condomeniums แต่ที่สำคัญที่สุด ต้องมีกระบวนการ Public hearing ทั้งหมดสามารถทำได้ ต้องอดทน ต้องใช้เวลา แต่หากทำได้ จะทำให้โครงการในลักษณะเดียวกันที่จะเกิดขึ้นในที่อื่นๆ มองเห็นหนทางที่จ่ะทำได้ในลักษณะเดียวกัน
<<<<<<<<
Jobb Virochsiri
ถ้ามองจากภาพรวมอาจช่วยให้เห็นปัญหาและแนวทางแก้ไขได้ ที่จริงบริเวณซอยแยกแถวนี้ก็ให้เดินรถทางเดียวอยู่แล้ว ในข้อเสนอแนะนี้มีเพียงกลับทิศทางเดินรถในซอยอารีย์ 3 และให้เกิดการเดินรถทางเดียวที่บริเวณปากซอยพหลโยธิน 5 (ราชครู) และซอยอารีย์ เพื่อบรรเทาความแออัด
ถ้าลดพื้นที่ถนนที่เดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยรถยนต์ที่มาจอดติดขัดพ่นไอเสีย ทำให้เป็นย่านน่าเดินจับจ่ายซื้อของก่อนกลับบ้าน ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจแถวนี้ดีขึ้นอีกด้วย และอาจเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินให้คุ้มค่าขึ้น
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1125581960890819&set=a.1121011894681159&type=3&theater
Jobb Virochsiri
ย่านซอยอารีย์เป็นพื้นที่ขนาดประมาณ 1.5 x 1.5 กิโลเมตร จากด้านทิศตะวันออกคือแนวถนนพหลโยธิน ไปทางทิศตะวันตกข้ามถนนพระราม 6ไปจรดแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือและรถไฟฟ้าสายสีแดง ด้านทิศใต้จากซอยพหลโยธิน 5 ไปถึงถนนประดิพัทธ์ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างแขวงสามเสนในและแขวงถนนนครไชยศรี เขตพญาไท
บริเวณปากซอยอารีย์ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส มีลักษณะเป็นศูนย์กลางของกิจกรรม และมีความคับคั่งมากกว่าส่วนอื่น
ตำแหน่งของสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงยังไม่ได้รับการกำหนดชัดเจนนัก(ยังอยู่ระหว่างสืบค้นข้อมูล) แต่เห็นได้ว่าหากเกิดขึ้นก็อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อย่านที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟ ซึ่งควรพิจารณาความเชื่อมโยงเข้ามาสู่ย่านซอยอารีย์ โดยข้ามผ่านถนนพระราม 6 ซึ่งมีทางด่วนพาดอยู่เหนือแนวคลองประปา
Jobb Virochsiri
กรุงเทพฯ เป็น "เมืองแออัดที่ไม่หนาแน่น" ครับ
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1125581954224153&set=a.1121011894681159&type=3&theater

Jobb Virochsiri
ย่านซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน เดิมเป็นย่านที่อยู่อาศัยชานเมืองที่เกิดขึ้นเนื่องจากการตัดถนนพหลโยธินออกไปสู่ภูมิภาคด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
ต่อมาเมื่อเมืองมีการขยายตัวมากขึ้น บริเวณนี้ได้กลายมาเป็นย่านที่มีความเจริญมากขึ้นจนนับเป็นย่านกลางเมืองในระยะเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการหลายแห่งคือ กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสรรพากรและกรมประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานเขตพญาไท สำนักงานคณะกรรมการการสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานธนาคารและห้างร้านธุรกิจต่างๆ โรงพยาบาลและโรงเรียน ฯล
การสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวทำให้เกิดคอนโดมีเนียมขึ้นหลายอาคารในบริเวณ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการขยายเส้นทางด้านทิศเหนือออกไปถึงคูคต ลำลูกกา ส่วนด้านทิศใต้ขณะนี้ไปได้ถึงบางปูแล้ว
ในอนาคตยังจะมีรถไฟฟ้าสายสีแดงผ่านทางด้านทิศตะวันตกซึ่งจะไปเชื่อมกับรถแอร์พอร์ทลิงค์ไปสนามบินสุวรรณภูมิ และต่อไปในระยะยาวจะไปได้ถึงมหาชัย สมุทรสาคร
แม้บริเวณนี้จะดูคับคั่งแออัดในเวลากลางวันช่วงเวลาเร่งด่วน แต่ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยต่อตารางกิโลเมตรที่คำนวณได้จากทะเบียนสำมะโนครัวยังมีอยู่เพียงประมาณ 10,200 คน เท่านั้น
ซึ่งแสดงว่าข้าราชการและพนักงานจำนวนมากของหลายหน่วยงานและธุรกิจในบริเวณนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้เดินทาง (Commuters) เข้ามาสู่พื้นที่ รวมทั้งการเดินทางตัดผ่านเข้าออกระหว่างถนนพระราม 6 และถนนพหลโยธิน